การเตรียมตัวก่อนการตรวจสุขภาพ

คำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เนื่องจากหากเกิดโรคภัยแล้ว นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพกายและสุขภาพใจ ยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีกด้วย ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาความผิดปกติภายในที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพควรเตรียมความพร้อม เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ ซึ่งควรมีการเตรียมตัว ดังนี้

  1. ก่อนเข้ารับการตรวจ ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เนื่องจากการนอนไม่พออาจส่งผลต่อความดันโลหิตและการเต้นของหัวใจ
  2. งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ ทั้งนี้ สามารถจิบน้ำเปล่าได้
  3. ยาประจำตัว สามารถทานก่อนตรวจสุขภาพได้ แต่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ
  4. หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพ ควรนำเอกสารติดตัวมาด้วย เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์
  5. งดการสูบบุหรี่ก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากจะทำให้ความดันโลหิตสูง
  6. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการตรวจ
  7. ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การตรวจสุชภาพคือช่วงเช้า เนื่องจากหากตรวจสุขภาพเรียบร้อยแล้วสามารถทานอาหารได้ทันทีและไม่ทำให้ร่างกายอิดโรย
  8. หากสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ
  9. โปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้หญิง เช่น การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ แนะนำให้เว้นช่วงตรวจก่อนและหลังมีประจำเดือนประมาณ 7 วัน
  10. เลือกสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและสะดวกต่อการเจาะเลือด
  11. สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจหาความเสี่ยงเฉพาะโรค ควรปรึกษาศูนย์ตรวจสุขภาพก่อน เพื่อรับทราบเงื่อนไขการเตรียมตัวอย่างครบถ้วนก่อนเข้ารับการตรวจ
  12. หากโปรแกรมสุขภาพมีการตรวจปัสสาวะ ควรปัสสาวะทิ้งเล็กน้อยก่อน แล้วจึงเก็บปัสสาวะตรงช่วงกลางตามปริมาณที่กำหนด
  13. การเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมตามที่กล่าวมา ข้างต้น อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ การให้ข้อมูลของตนเองอย่างละเอียดและตรงไปตรงมา เช่น พฤติกรรมการทานอาหาร การใช้ชีวิต ประวัติการรักษาโรคต่างๆ เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อศูนย์ตรวจสุขภาพ เพราะสามารถนำมาวิเคราะห์ แนวโน้มการเกิดโรคในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ที่ได้รับการตรวจอย่างสูงสุด