เรื่องน่ารู้:
- เมื่ออายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของวัยจะมีผลกระทบต่อปอดทั้งทางตรงหรือทางอ้อมได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านสรีระทางร่างกาย ระบบภายในร่างกาย เช่น ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ
- ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากปอดเสื่อมในผู้สูงวัย เช่น การติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ วัณโรค หายใจถี่หรือติดขัด ระดับออกซิเจนต่ำ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- การมีสุขภาพปอดที่แข็งแรงในผู้สูงอายุนั้นนอกจากจะดูแลและป้องกันทางด้านกายภาพแล้วก็จะต้องสัมพันธ์กับการดูแลสุขภาพโดยรวม เช่น สุขภาพจิตใจ การมองโลกในแง่ดี ไม่เครียดหรือวิตกกังวล รวมถึงการได้รับความรักและความเอาใส่ใจจากคนในครอบครัว จะเป็นวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุได้
ความสำคัญของปอด
ปอด มีหน้าที่หลัก 2 ประการ
หนึ่ง ทำหน้าที่รับก๊าซออกซิเจนจากอากาศเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งร่างกายของคุณต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในกระบวนการต่างๆ ภายในร่างกาย
สอง ทำหน้าที่ขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นของเสียที่ร่างกายผลิตขึ้นหลังจากร่างกายได้ใช้ออกซิเจนในกระบวนการต่างๆ
ในระหว่างการหายใจอากาศจะเข้าและออกจากปอด เมื่อคุณหายใจเข้า อากาศจะไหลผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ปอดหรือทางเดินหายใจที่เป็นเนื้อเยื่อที่ยืดหดแถบกล้ามเนื้อหายใจ โดยจะแบ่งกระบวนการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ กล้ามเนื้อหายใจเข้า และกล้ามเนื้อหายใจออก
อากาศจะไหลเข้าสู่ปอดอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเต็มถุงลมเล็กๆ เลือดจะไหลเวียนรอบถุงลมเหล่านี้ผ่านเส้นเลือดเล็กๆ โดยออกซิเจนจะเข้าสู่กระแสเลือด ณ จุดที่หลอดเลือดและถุงลมมาบรรจบกัน นอกจากนี้ยังเป็นที่ที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ข้ามจากกระแสเลือดไปยังปอดเพื่อเข้าสู่กระบวนการหายใจออก (กระบวนการขับก๊าซคาร์บอนไดออกซ์ที่เป็นของเสียที่เกิดจากกระบวนการสร้างพลังงานภายในร่างกาย)
การเปลี่ยนแปลงของวัยและผลกระทบต่อปอด
การเปลี่ยนแปลงของกระดูกและกล้ามเนื้อหน้าอกและกระดูกสันหลัง :
เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกจะบางลงและอาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงร่างของกระดูกซี่โครงของคุณที่จะส่งผลให้กระดูกซี่โครงของคุณไม่สามารถขยายและหดตัวได้อย่างสะดวกในระหว่างการหายใจ กล้ามเนื้อที่รองรับการหายใจของคุณหรือกะบังลมจะอ่อนแอลง ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้คุณหายใจเข้าหรือออกไม่ได้ดีเท่าที่เคย
การเปลี่ยนแปลงของกระดูกและกล้ามเนื้ออาจทำให้ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง นอกจากนี้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจถูกกำจัดออกจากร่างกายของคุณได้น้อย จึงเกิดอาการต่างๆ เช่น ความเหนื่อยล้าและหายใจถี่
การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปอด :
กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ทางเดินหายใจอาจสูญเสียความสามารถในการเปิดทางเดินหายใจได้อย่างเต็มที่ ทำให้ทางเดินหายใจปิดได้ง่าย ความชราภาพยังทำให้ถุงลมเสียรูปร่างหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปอด อาจทำให้ได้รับออกซิเจนน้อยเกินไปและการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง ทำให้หายใจลำบาก
การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท :
สมองส่วนที่ควบคุมการหายใจจะสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานบางส่วนไป เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ปอดของคุณจะไม่สามารถรับออกซิเจนได้เพียงพอ และการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อย การหายใจอาจทำได้ยากขึ้น เส้นประสาทในระบบทางเดินหายใจที่กระตุ้นอาการไอมีความไวน้อยลงในการช่วยกำจัดสิ่งปนเปื้อนในอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5 ควัน สารเคมีหรือธาตุโลหะหนัก และเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเพิ่มโอกาสให้สิ่งปนเปื้อนสะสมในปอดได้ง่ายขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน :
ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะอ่อนแอลง ซึ่งหมายความว่า ร่างกายของคุณไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อในปอดและโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้ ปอดของคุณจะฟื้นตัวได้ช้าลงหลังจากสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนในอากาศที่จะก่ออันตรายต่อสุขภาพของคุณได้
การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม :
การเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งที่เป็นภัยจากธรรมชาติ เช่น โลกร้อน ปรากฎการณ์เอลนีโญ และลานีญา เชื้อโรคกลายพันธุ์ หรือจากภัยจากที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง เช่น การเกิดฝุ่น PM 2.5 มลพิษทางอากาศ แหล่งน้ำเสีย พื้นดินปนเปื้อนสารเคมี ที่อาจจะทำให้คุณมีสุขภาพโดยรวมเสื่อมกว่ากำหนด ยิ่งในผู้สูงอายุ หากระบบทางเดินหายใจเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงก็จะส่งผลต่อสุขภาพโดยในระยะเวลาอันรวดเร็ว การป้องกันตนเองสำหรับวัยสูงอายุต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษจะต้องมีความรัดกุมและเข้มข้นกว่าวัยอื่นๆ
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวปอดของผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยง :
- การติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวมและหลอดลมอักเสบ
- หายใจถี่ หรือติดขัด
- ระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ
- รูปแบบการหายใจที่ผิดปกติส่งผลให้เกิดปัญหา เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การป้องกันเพื่อลดผลกระทบความเสื่อมของปอด :
- งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อปอดและทำให้ปอดเสื่อมเร็วขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงแหล่งการเกิดควันบุหรี่มือสอง และแหล่งมลพิษทางอากาศ
- หลีกเลี่ยงการนอนหรือนั่งเป็นเวลานานจะทำให้น้ำมูกสะสมในปอด สิ่งนี้ทำให้คุณเสี่ยงต่อการติดเชื้อในปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการผ่าตัดหรือเมื่อคุณป่วย
- ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5 หรือควันจากการเผาไหม้ ควรออกกำลังกายภายในบ้านหรือในอาคารแทนการออกกำลังกายกลางแจ้ง
- ป้องกันตนเองเสมอเวลาออกข้างนอกหรือการอยู่ในที่แจ้ง เช่น ในตัวเมือง หรือการทำกิจกรรมในพื้นที่เกิดมลพิษ หรือพื้นที่เสี่ยง โดยการเลือกใช้หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองหรือคนในครอบครัวช่วยกันสังเกตเพื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้นของผู้สูงวัยในครอบครัว หากไม่แน่ใจควรได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงโรค
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อประเมินความเสี่ยงโรค
สรุป
ปอด เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการหายใจเข้า-ออก แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อม เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดเพื่อหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และขับของเสียออกมาในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำผ่านลมหายใจ ปอดที่ไม่แข็งแรงจะส่งผลกระทบโดยตรงที่จะทำให้ร่างกายที่ไม่แข็งแรงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานต่ำ โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากปอดมีสูงมาก เช่น การเกิดโรคปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว การติดเชื้อวัณโรค การติดเชื้อในกระแสเลือด โดยสาเหตุที่จะต้องระมัดระวังที่อาจจะเกิดกระทบต่อปอดในผู้สูงอายุ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระร่างกาย การเสื่อมลงของเนื้อเยื่อปอด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
ซึ่งการมีสุขภาพปอดที่แข็งแรงในผู้สูงอายุนั้นก็จะสัมพันธ์กับการดูแลสุขภาพโดยรวม เช่น สุขภาพจิตใจ การมองโลกในแง่ดี ไม่เครียดหรือวิตกกังวล รวมถึงการได้รับความรักและความเอาใส่ใจจากคนในครอบครัว จะเป็นวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพต่อผู้สูงอายุได้
พาธแล็บยินดีให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ หรือหากสนใจบริการของเราสามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์บริการพาธแล็บ [ กดโทร ] 02 619-2299 หรือ 02 619-2288
Facebook Inbox [ กดคลิก ] th.pathlab.link/inbox
LINE Official [ กดคลิก ] th.pathlab.link/LINE
Website [ กดคลิก ] www.pathlab.co.th
Location สาขาใกล้ๆ คุณ [ กดคลิก ] th.pathlab.link/google-maps
อ้างอิงจาก:
-
-
- สถาบันโรคทรวงอก. (2562). “โรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ”. สืบค้นเมื่อวันที่ 08 ก.พ. 2564. จากเว็บไซต์: https://www.ccit.go.th/news/health_detail.php?post_id=1435
-
- MedlinePlus.The National Library of Medicine (NLM). “Aging changes in the lungs”.Retrieved February 08, 2021, from https://medlineplus.gov/ency/article/004011.htm
-