เรื่องน่ารู้:
- ภาวะลองโควิด (Long COVID-19) คือ อาการป่วยหรือโรคที่ยังหลงเหลืออยู่จากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงอยู่เป็นเวลา 4 สัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากหายจากการติดเชื้อหรือหลังการรักษา ที่อาจจะเป็นอาการผิดปกติที่ไม่ร้ายแรง หรือหากไม่ได้รับการดูแลในระยะเวลาหนึ่งหรือไม่ได้รับการตรวจประเมินก็อาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้ในอนาคต โดยอาการหลักของโรคลองโควิด ได้แก่
⚠ ไอ
⚠ หอบ
⚠ หายใจติดขัด
⚠ เจ็บหน้าอก
⚠ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
⚠ อาจมีไข้ต่ำๆ
⚠ เสียการรับรสและกลิ่นชั่วคราว
⚠ มีความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า
⚠ นอนหลับยาก
⚠ ผมร่วง
- ความเสี่ยงที่ต้องจับตาสำหรับภาวะลองโควิด คือ
‼ โรคเบาหวาน
‼ ภาวะติดเชื้อซ้ำต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
‼ ภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง
‼ ปัญหาต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
‼ ปัญหาระบบทางเดินหายใจ
‼ ปัญหาต่อระบบอวัยวะภายในที่สำคัญ ได้แก่ ปอด ตับ ตับอ่อน ไต
‼ ปัญหาต่อระบบประสาท
‼ ปัญหาสุขภาพจิต
- ผู้ป่วยโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วนลงพุง โรคมะเร็งต่างๆ เป็นต้น และผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 (COVID-19 Vaccine) จะมีความเสี่ยงต่อการตอบสนองต่อการติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรค NCDs หรือเคยได้รับวัคซีน
- สิ่งสำคัญหลังการติดเชื้อโควิด-19 คือ การได้รับการประเมินสุขภาพเพื่อติดตามภาวะลองโควิดของคุณ โดยหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติที่จะเป็นสัญญาณของปัญหาด้านสุขภาพตามมา พร้อมกับข้อควรปฏิบัติต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงสถานที่มีผู้คนแออัด รับวัคซีนเมื่อมีโอกาส และล้างมือให้สะอาดสม่ำเสมอ
ภาวะลองโควิด (Long COVID-19 หรือ Post COVID-19)
สำหรับบางคนที่ติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ทำให้เกิดอาการของโรคที่คงอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อหายไปหรือหลังการรักษา ซึ่งเรียกว่าภาวะหลังการติดเชื้อโควิด-19 หรือภาวะลองโควิด แม้ว่าคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการเล็กน้อยหรือมีอาการป่วยปานกลาง โดยผู้ป่วยประมาณ 10-15% อาการจะพัฒนาไปสู่โรคร้ายแรง และประมาณ 5% จะมีอาการป่วยที่รุนแรง
โดยปกติ ผู้ป่วยจะหายจากอาการป่วยหรือภูมิคุ้มกันโรคสามารถกำจัดเชื้อโควิด-19 หลังจากผ่านไป 2 ถึง 6 สัปดาห์ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะฟื้นตัวและกลับสู่สภาวะปกติ แต่ในบางคนอาจมีอาการที่ยังคงอยู่ หลังจากการหายจากอาการป่วยหรือได้รับการรักษาฟื้นฟูสุขภาพอาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แม้ว่าจะไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นในช่วงหลังจากการรักษาหรือฟื้นฟูแล้ว รวมถึงผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีบ้างแต่ไม่รุนแรง ก็สามารถพบกับอาการที่เกิดขึ้นของลองโควิดได้ และผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนที่จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
โดยอาการหลักของโรคลองโควิด ได้แก่
⚠ ไอ
⚠ หอบ
⚠ หายใจติดขัด
⚠ เจ็บหน้าอก
⚠ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
⚠ อาจมีไข้ต่ำๆ
⚠ เสียการรับรสและกลิ่นชั่วคราว
⚠ มีความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า
⚠ นอนหลับยาก
⚠ ผมร่วง
และต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรจับตาถ้าคุณคือหนึ่งในผู้ที่เคยได้รับการรักษาหรือสงสัยว่าจะหายจากอาการป่วยจากเชื้อโควิด-19 เพื่อให้คุณรู้ทันต่ออาการลองโควิดที่อาจกำลังสร้างปัญหาอย่างรุนแรงกับสุขภาพคุณ มีดังนี้
ปัญหาสุขภาพและโรคที่เกิดจากภาวะลองโควิด
- โรคเบาหวาน
- ภาวะติดเชื้อซ้ำต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
- ภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง
- ปัญหาต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ปัญหาระบบทางเดินหายใจ
- ปัญหาต่อระบบอวัยวะภายในที่สำคัญ ได้แก่ ปอด ตับ ตับอ่อน ไต
- ปัญหาต่อระบบประสาท
- ปัญหาสุขภาพจิต
โรคเบาหวาน
การศึกษา 2 งานวิจัยใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIH* ได้พบว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถทำลายเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อนจนทำให้ทำงานบกพร่องจนเกิดภาวะการผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ที่เกิดจากสาเหตุของเซลล์เบต้าในตับอ่อนไม่สามารถหลั่งอินซูลินได้เพียงพอที่จะทำให้ร่างกายเผาผลาญอาหารได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผลของการผลิตอินซูลินไม่เพียงพอจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 1
ภาวะติดเชื้อซ้ำต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
มีโอกาสกลับมาเป็นได้ถ้าป้องกันไม่ดีพอหรือละเลยการป้องกันตนเองในช่วงที่มีการระบาดในวงกว้าง แม้จะได้รับการรักษาหรือหายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้วก็มีโอกาสการกลับมาติดเชื้อซ้ำในกรณีที่เป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ุใหม่หรือเชื้อกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง เมื่อร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในที่สำคัญต่างๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ไต เป็นต้น โดยเชื้อโควิด-19 จะเป็นเหมือนตัวกลางที่กระตุ้นให้เกิดความเสียหายนี้ โดยที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการติดเชื้อ โจมตีหรือกำจัดเนื้อเยื่อในส่วนต่างๆ ที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง
อาการติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรง หรือเรียกว่าอาการพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) โดยอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อทุกประเภท ไม่ว่าจะมาจากเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือแบคทีเรีย ที่มักเกิดขึ้นกับการติดเชื้อที่เกิดภายในปอด ทางเดินปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไต) และสามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในทุกๆ ส่วนได้ โดยเกิดจากเซลล์ภูมิคุ้มกันจะสร้างสารไซโตไคน์ออกมาเพื่อที่จะช่วยกระตุ้นการอักเสบตามกลไกธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดักจับและกำจัดเชื้อโรค แต่เนื่องจากเชื้อโควิด-19 จะกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันผลิตสารไซโคไคน์มากจนเกินไป ทำให้เสียการควบคุมเกินที่จะยับยั้ง ส่งผลทำให้สารไซโตไคน์นี้เองสะท้อนกลับมากระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันให้ทำลายเนื้อเยื่อในส่วนที่มีการติดเชื้อโควิด-19 อย่างบ้าคลั่ง ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อของอวัยวะภายในต่างๆ ทำงานล้มเหลว และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด
ภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง
ในกรณีที่เกิดจากภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19 ที่มีระดับต่ำลง เช่น ในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเพิ่มอย่างเหมาะสมหรือไม่ครบที่จะทันต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในแต่ละรอบของการระบาดใหม่ หรือรับเข็มล่าสุดนานกว่า 6 เดือน และมีภูมิคุ้มกันที่บกพร่องโดยเฉพาะถ้าคุณเป็นโรค *NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วนลงพุง โรคมะเร็งต่างๆ เป็นต้น และผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 (COVID-19 Vaccine) ควรต้องระมัดระวังและป้องกันตนเองอย่างดีเพราะระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยประเภทนี้มีความเสี่ยงที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงมากกว่าคนที่ไม่ไม่เป็นโรค NCDs หรือเคยได้รับวัคซีน
ปัญหาต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
หากคุณมีภาวะใจสั่น เจ็บหน้าอกบ่อยๆ ความดันโลหิตไม่ปกติหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ถึงเวลาที่คุณจะต้องได้รับการประเมินด้านสุขภาพกับทางผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดตามการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด เพื่อรีบรักษาก่อนจะนำไปสู่ภาวะการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน และภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
สืบเนื่องจากในระยะการลุกลามการติดเชื้อโควิด-19 ที่การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้ออาจกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื่องจากความเครียดหรือการตอบสนองที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจเอง และอันเนื่องมาจากภาวะพายุไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะติดเชื้อในบริเวณอวัยวะนั้น
จากการตอบสนองต่อการอักเสบอย่างรุนแรงและความเสียหายของเนื้อเยื่อบุผนังหลอดเลือด จะส่งผลต่อความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดที่มากเกินไปทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ปัญหาระบบทางเดินหายใจ
การฟื้นฟูระบบการหายใจโดยเฉพาะปอด หลังจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือนกว่าที่การทำงานของปอดจะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดการติดเชื้อ โดยการฝึกการหายใจ การออกกำลังกาย และการบำบัดสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 จะสามารถช่วยให้ฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อและสุขภาพของแต่ละบุคคล
กรณีร้ายแรงของการติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้เกิดแผลเป็นที่ปอด (โรคพังผืดที่ปอด) และปัญหาถาวรอื่นๆ ในปอด ซึ่งจะทำให้เกิดการหายใจที่ติดขัด ส่งผลประสิทธิภาพในการรับก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายที่น้อยกว่าปกติ ส่งผลทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย หายใจหอบ ถ้าคุณรู้สึกว่ามีอาการแบบนี้มากกว่า 2 เดือนควรได้รับการประเมินสุขภาพ และรักษาหรือบำบัดเฉพาะทางให้เร็วที่สุด
ปัญหาความเสียหายต่อระบบอวัยวะภายในที่สำคัญ
ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบการหายใจที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีอวัยวะที่สำคัญที่ทำงานและเกี่ยวโยงถึงกัน ได้แก่ ตับ ตับอ่อน ไต ที่อาจเสี่ยงต่อภาวะพายุไซโตไคน์ที่สร้างความเสียหายโดยสร้างโรคพังผืดที่อวัยวะต่างๆเหล่านี้ ที่จะสามารถลดประสิทธิภาพการทำงานลงได้ การได้รับก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่ออวัยวะที่น้อยลง การเกิดลิ่มเลือดอุดตันอวัยวะดังกล่าว และการเกิดการอักเสบเรื้อรังตามมา โดยสัญญาณที่คุณอาจจะสังเกตได้ในช่วงหลังการติดเชื้อโควิด-19 มีดังนี้
● ตับ
การติดเชื้อโควิด-19 สามารถสร้างความเสียหายที่เนื้อเยื่อในตับอาจทำให้เกิดโรคตับแข็งได้ โดยอาการที่สังเกตเห็นได้ คือ ตัวเหลืองหรือผิวเหลือง อาการบวมที่ท้องและขา ฟกช้ำง่าย อุจจาระและปัสสาวะเปลี่ยนสี เป็นต้น
● ตับอ่อน
ความเสียหายของเนื้อเยื่อตับอ่อน จะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ ได้แก่ มะเร็งตับอ่อน ในการผลิตอินซูลินที่ไม่เพียงพอจะส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต โดยอาการที่สังเกตเห็นได้ คือปวดบริเวณกลางท้อง ปวดร้าวลงไปบริเวณกลางหลัง คลื่นไส้ อาเจียนเป็นต้น
● ไต
เมื่อไตได้รับความเสียหายและไม่สามารถกรองเลือดได้เป็นปกติ จะส่งผลให้ของเหลวส่วนเกินและของเสียจากเลือดยังคงไหลเวียนอยู่ในร่างกาย และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง โดยอาการที่สังเกตเห็นได้ คือ ปวดบริเวณไต อาการบวมที่ขา ข้อเท้า หรือรอบดวงตา ปัสสาวะเป็นฟองหรือปัสาวะบ่อยทั้งตอนกลางวันและกลางคืน ปวดหัวเรื้อรัง เหนื่อยล้าอ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร เป็นต้น
ดังนั้นคุณควรได้รับการตรวจประเมินสุขภาพเพื่อติดตามการทำงานของไตอย่างจริงจังหลังการติดเชื้อโควิด-19
ปัญหาทางด้านระบบประสาท
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีหลายระดับอาการที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของสมองหรือระบบประสาท ตั้งแต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการชัก อาการบาดเจ็บที่เส้นประสาท
โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้พบว่าอาการที่เป็นเอกลักษณ์ของการติดเชื้อโควิด-19 ในเรื่องการรับรสชาติและรับกลิ่นที่เปลี่ยนไป ไปจนถึงภาวะสับสนและโรคจิตเภทต่างๆ เชื่อมโยงกับการหดตัวและความเสียหายของเนื้อเยื่อสมองจากการการติดเชื้อโควิด-19
และกลุ่มอาการเหล่านี้มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการติดเชื้ออย่างรุนแรง หากรักษาหายหรือตรวจไม่พบเชื้อแล้วแต่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ่อยเป็นเวลานานหลายเดือน คุณควรได้รับการตรวจประเมินด้านระบบประสาทเพื่อความแน่ใจหลังการติดเชื้อ
ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต
หลังจากการดูแลรักษาหรือฟื้นฟูสุขภาพหลังการติดเชื้อโควิด-19 บางคนยังคงวิตกกังวล ซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ความเจ็บปวดที่ยังรับรู้ได้และความอ่อนแอจากความเสียหายของอวัยวะภายในต่างๆ รวมถึงการอยู่คนเดียวเป็นเวลานาน ความเศร้าโศกจากการเสียชีวิตของคนที่คุณรัก ความเครียดจากการตกงานและปัญหาทางการเงินระหว่างการรักษาหรือฟื้นฟูร่างกาย รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและสังคมหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หากเป็นเรื่องยากที่คุณจะข้ามผ่านปัญหาด้านความเครียดหรือปัญหาด้านสุขภาพจิตนี้ ควรได้รับการดูแลรักษาจากจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่จะช่วยแนะนำและให้แนวทางที่คุณจะสามารถเริ่มต้นชีวิตหลังจากการติดเชื้อโควิด-19ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป
สิ่งสำคัญที่หลังการติดเชื้อโควิด-19 คือ การได้รับการประเมินสุขภาพเพื่อติดตามสภาวะลองโควิด โดยหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติที่จะเป็นสัญญาณของปัญหาด้านสุขภาพตามมา พร้อมกับข้อควรปฏิบัติที่สำคัญในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงสถานที่ผู้คนแออัด รับวัคซีนเมื่อมีโอกาส และล้างมือให้สะอาดสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรค *NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว และผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 (COVID-19 Vaccine) ที่จะต้องระมัดระวังและป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
ข้อมูลโดย :
พาธแล็บ ศูนย์ตรวจสุขภาพ สาขาแจ้งวัฒนะ
Pathlab Healthcare Center: Chaengwattana Center
Tel. [ กดโทร ] 02 573-3490-1
พาธแล็บยินดีให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ หรือหากสนใจบริการของเราสามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์บริการพาธแล็บ [ กดโทร ] 02 619-2299 หรือ 02 619-2288
Facebook Inbox [ กดคลิก ] th.pathlab.link/inbox
LINE Official [ กดคลิก ] th.pathlab.link/LINE
Website [ กดคลิก ] www.pathlab.co.th
Location สาขาใกล้ๆ คุณ [ กดคลิก ] th.pathlab.link/google-maps
อ้างอิงจาก:
-
-
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2565). “ผู้ป่วยที่เป็นโรคโควิด-19 (COVID-19) สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่”. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565. จากเว็บไซต์: https://pharmacy.mahidol.ac.th/en/knowledge/article/516/โควิด19-เป็นซ้ำได้หรือไม่/
- งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. (2564). “ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้อยู่กับคุณแค่สั้นๆ”. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565. จากเว็บไซต์: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ภาวะ-long-covid-ลองโควิด-เมื่อโรค/
- ศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2565). “วัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย สำหรับประชาชน > คำถามที่พบบ่อย”. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565. จากเว็บไซต์: https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/pages/
- Mayo Clinic. (2021). “COVID-19 (coronavirus): Long-term effects”. Retrieved April 04, 2022, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/coronavirus/in-depth/coronavirus-long-term-effects/art-20490351
- *National Institutes of Health (NIH). (2021). “How COVID-19 Can Lead to Diabetes”. Retrieved April 04, 2022, from https://directorsblog.nih.gov/2021/06/08/how-covid-19-can-lead-to-diabetes/
- National Library of Medicine (NLM). (2021). “Prevalence and clinical outcomes of myocarditis and pericarditis in 718,365 COVID-19 patients”. Retrieved April 05, 2022, from https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34516657/
- National Library of Medicine. MedilinePlus. (2022) “Liver Diseases”. Retrieved April 04, 2022, from https://medlineplus.gov/liverdiseases.html
- Queensland Government. (2020). “The link between coronavirus (COVID-19) and sepsis”. Retrieved April 04, 2022, from https://www.health.qld.gov.au/news-events/news/coronavirus-covid-19-sepsis-side-effects-symptoms
- Springer Nature. (2022). “SARS-CoV-2 is associated with changes in brain structure in UK Biobank”. Retrieved April 05, 2022, from https://www.nature.com/articles/s41586-022-04569-5
- The Johns Hopkins Medicine. (2021). “COVID ‘Long Haulers’: Long-Term Effects of COVID-19”. Retrieved April 04, 2022, from https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/covid-long-haulers-long-term-effects-of-covid19
- The Johns Hopkins Medicine. (2022).“Coronavirus: Kidney Damage Caused by COVID-19”. Retrieved April 04, 2022, from https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/coronavirus-kidney-damage-caused-by-covid19
- World Health Organization (WHO). (2021). “Post COVID-19 condition (Long COVID)”. Retrieved April 05, 2022, from https://www.who.int/srilanka/news/detail/16-10-2021-post-covid-19-condition
-