ปิด!! ประตูรับโรค น้ำตาลและอินซูลิน
ต้นเหตุสร้างโรคเรื้อรัง

เนื้อหา

เรื่องน่ารู้:

  • น้ำตาล จัดอยู่ในหมวดหมู่คาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเกิดจากการสังเคราะห์แปรรูป ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารและเครื่องดื่มให้มีรสชาติที่หอมหวานหรือกลมกล่อม

  • คิดก่อนเติมน้ำตาล หรือหากเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มรสหวานได้จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของคุณในระยะยาว เพราะน้ำตาลเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังและปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ต่อเนื่องไปจนถึงปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจครัวเรือน

  • น้ำตาล ก่อให้เกิดการเสพติดความหวาน หากใช้ในปริมาณที่มากจะที่มีผลเหมือนการติดยาเสพติดได้

  • น้ำตาลมีผลเสียต่อร่างกาย ได้แก่ ทำให้คุณขาดคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้คุณเป็นโรคอ้วนลงพุงตามมาด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ น้ำตาลทำให้ผิวพรรณคุณเสื่อมก่อนวัยอันควร ทำให้คุณติดความหวาน ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้คุณสะสมไขมันโดยไม่สามารถออกมาใช้เป็นพลังงานได้

  • แน่นอน !! หากคุณหลีกเลี่ยงหรือลด ละ เลิกน้ำตาล บอกลาความหวานได้ สุขภาพคุณจะดีอย่างไม่ต้องกังวล

  • เคล็ดลับลด ละ เลิกน้ำตาล จะช่วยคุณให้มีสุขภาพดีระยะยาว และทำไม่ยาก เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการเลือกกินอย่างถูกวิธี ตามที่เราจะได้แนะนำคุณในเนื้อหาความรู้นี้

มีเหตุและผลอย่างไร ก่อนคุณจะเติมน้ำตาลในมื้ออาหาร

น้ำตาล จัดอยู่ในหมวดหมู่คาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเกิดจากการสังเคราะห์แปรรูปที่มีในอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายชนิด ใช้เพื่อเป็นสารเติมแต่งในอาหารและเครื่องดื่ม อย่างที่เราต่างรับรู้ว่าการบริโภคน้ำตาลไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลแปรรูปหรือน้ำตาลธรรมชาติจากผลไม้รสหวานหรือส่วนต่างๆ ของพืชมากเกินไปจะทำให้ระดับน้ำตาลสูงเป็นประจำ ส่งผลต่อภาวะการดื้ออินซูลินที่บ่งบอกถึงการเป็นโรคเบาหวาน และนี่คือจุดเปลี่ยนความแข็งแรงของสุขภาพคุณที่จะต้องกลายเป็นรับมือกับอีกหลายๆ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) ตามมาแทบจะคาดการณ์กันได้ เช่น

⚠   โรคฟันผุ

⚠   โรคความดันโลหิตสูง

⚠   โรคไขมันในเลือดสูง

⚠   โรคอ้วนลงพุง

⚠   โรคหัวใจและหลอดเลือด

⚠   โรคไขมันพอกตับ

⚠   โรคไตวาย

⚠   โรคทางสมองและประสาท เช่น โรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น

⚠   โรคถุงลมโป่งพอง

⚠   โรคมะเร็ง

⚠   ปัญหาการนอนหลับเรื้อรัง

⚠   โรคภูมิแพ้

⚠   อื่นๆ

น้ำตาลเปรียบเสมือนสะเก็ดไฟที่หล่นใส่กองใบไม้ที่เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การเกิดไฟป่าครั้งใหญ่สำหรับสุขภาพคุณ และนี่คือเหตุผลที่คุณจะมีสุขภาพดี หากชีวิตนี้คุณไม่เติมน้ำตาลในอาหารคุณ

น้ำตาลทำให้คุณขาดคุณค่าทางโภชนาการ

น้ำตาลแปรรูปไม่มีคุณประโยชน์ในด้านโภชนาการต่อสุขภาพแม้ความว่างเปล่าของสารอาหารในน้ำตาลเป็น 0 แต่แคลอรี่กลับสูงมากอย่างน่าประหลาดใจ โดยน้ำตาลจะมีแคลอรี่อยู่ระหว่าง 40-60 แคลอรี่ต่อช้อนชา (โดยไม่ควรเกิน 4 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี่ ไม่เกิน 6 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี่) การเติมลงในอาหารและเครื่องดื่มจะเพิ่มปริมาณแคลอรี่อย่างมีนัยสำคัญโดยไม่สามารถเพิ่มประโยชน์ทางโภชนาการใดๆ ร่างกายมักจะย่อยอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่าเราจะได้รับแหล่งพลังงานที่ไม่ดีต่อการทำกิจกรรมประจำวัน แต่ถ้าเทียบกับที่มีน้ำตาลตามธรรมชาตินั้นแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ผลไม้และผลิตภัณฑ์จากนมมีน้ำตาลธรรมชาติ ร่างกายย่อยอาหารเหล่านี้ในอัตราที่ช้าลง ทำให้เป็นแหล่งพลังงานทีดีกว่า และที่ต้องระวังอีกประการหนึ่งคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรังจะส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์มีประสิทธิภาพน้อยลง และส่งผลให้เกิดโรคขาดสารอาหารที่สำคัญได้ เช่น วิตามินดี แคลเซียม โฟเลต โครเมียม แมกนีเซียม เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลจากธรรมชาติที่ได้จากผลไม้หรือส่วนต่างๆ ของพืช คุณควรระมัดระวังไม่ให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไปที่จะส่งผลต่อการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน และการเก็บพื้นที่แคลอรี่ที่คุณจะมอบให้กับน้ำตาลคุณสามารถนำไปกินอาหารที่มีสารอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์สำหรับสุขภาพของคุณได้

น้ำตาลทำให้คุณหุ่นพัง ระวังโรคเรื้อรังต่อแถว

น้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มสุดหวานหอมชื่นใจจะมีแคลอรี่ที่สูงและไม่มีคุณประโยชน์ในด้านโภชนาการ ทำให้คุณหิวบ่อยและไม่อิ่ม จึงอยากอาหารได้ต่อเนื่อง เพราะน้ำตาลสามารถส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกายที่ควบคุมน้ำหนักและความอิ่ม คือ ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณบอกสมองว่าคุณกินอาหารมื้อนั้นๆ ได้พลังงานอย่างเพียงพอแล้ว แต่อาหารที่มีน้ำตาลสูงจะส่งผลการดื้อเลปตินได้ กล่าวคือ เมื่อเวลาผ่านไป อาหารที่มีน้ำตาลสูงจะป้องกันไม่ให้สมองรับรู้ได้ว่าควรจะหยุดกินหรือกินมื้อนี้ต่อไป และอีกกลไกคือน้ำตาลจะสร้างความเสียหายในระดับเซลล์ไมโทคอนเดรียของคุณให้อ่อนแอหรือเสียหาย เซลล์ของคุณจะมีการผลิตพลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพสิ่งนี้นำไปสู่ความอดอยากหรือหิวโหยและทำให้เกิดความเหนื่อยล้า (หากเกิดอย่างรุนแรงอาจจะส่งผลเกิดเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้) สิ่งนี้ยังกระตุ้นสมองให้กลัวว่าร่างกายจะขาดพลังงาน และระยะเวลาผ่านไปร่างกายจะกินเยอะ กินจุ ที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วน ลงพุงหรืออย่างใดอย่างหนึ่งก่อนแต่ก็ได้ผลลัพธ์เหมือนกันคือระบบเผาผลาญในร่างกายพังหรือเสื่อมลง ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา เกิดปัญหาภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome)

น้ำตาลทำให้ผิวพรรณคุณแก่และเสื่อมก่อนวัยอันควร

โดยคอลลาเจนและอีลาสตินเป็นโปรตีนหลัก 2 ชนิดที่ช่วยให้ผิวของเรามีความอ่อนเยาว์ อ่อนนุ่ม การเสื่อมของเซลล์ผิวหนังนั้นเกิดจากกระบวนการที่โมเลกุลของน้ำตาลจับกับคอลลาเจนและอีลาสตินในผิวของเราเกิดเป็นสารอนุมูลอิสระ ดังนั้นหากเราต้องการคงไว้ซึ่งโปรตีนเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “การหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณน้ำตาลที่คุณกินเข้าไปสามารถลดน้ำตาลกลูโคสและอินซูลินในกระแสเลือดของคุณได้ ลดการอักเสบเรื้อรังและเฉียบพลันที่เชื่อมโยงกับความชราได้” เมื่อคุณเริ่มเห็น สิวเห่อ หรือริ้วรอยเริ่มปรากฎขึ้น อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง

น้ำตาลอาจทำให้ผมร่วงและหัวล้าน

มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง (High Blood Sugar) ฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) กล่าวได้ว่าหนึ่งในสาเหตุของผมร่วงและหัวล้านนั้น คือ โรคเบาหวาน ที่จะสามารถส่งผลกระทบนี้ต่อเส้นผมของคุณได้ในทางอ้อม คือ หากคุณเป็นโรคเบาหวาน ร่างกายของคุณผลิตอินซูลินไม่ได้ (โรคเบาหวานชนิดที่ 1) หรือผลิตได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพจากการเกิดภาวะดื้ออินซูลินเรื้อรัง (โรคเบาหวานชนิดที่ 2) ที่ฮอร์โมนอินซูลินจะไม่สามารถนำน้ำตาลจากอาหารที่คุณกินที่กำลังหมุนเวียนอยู่ในกระแสเลือดไปยังเซลล์ของคุณเพื่อสามารถเก็บไว้เป็นพลังงานได้

เมื่อร่างกายคุณไม่สามารถผลิตอินซูลินหรืออินซูลินทำหน้าที่อย่างบกพร่อง น้ำตาลสามารถสะสมในเลือดของจนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลที่มากเกินไปนั้นสามารถทำลายเซลล์ให้อักเสบไปทั่วระบบอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกายรวม เช่น ดวงตา ตับ ตับอ่อน ไต สมอง เส้นประสาทและหลอดเลือดของคุณได้

โดยเฉพาะหากหลอดเลือดของคุณที่มีหน้าที่นำออกซิเจนไปทั่วร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อของคุณเกิดการอักเสบและเสียหายจนเสื่อมสภาพ เช่น การเกิดการตีบตัน หรือเส้นเลือดแตกง่าย รวมถึงการเกาะจับตัวระหว่างออกซิเจนกับเม็ดเลือดแดงที่น้ำตาลจะลดประสิทธภาพการนำพาออกซิเจนไปทั่วร่างกายและบริเวณศรีษะได้อย่างไม่เพียงพอต่อการบำรุงรากผมของคุณ การขาดออกซิเจนนี้อาจส่งผลต่อวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผมตามปกติของคุณได้

น้ำตาลทำให้คุณเสพติดได้เหมือนยาเสพติด

แม้น้ำตาลจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายสากล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเสพติดน้ำตาลนั้นมีอยู่จริง โดยการเสพติดน้ำตาลนั้นมี 2 ลักษณะ คือ เกิดจากพฤติกรรมเสพติดที่คุณเคยชินกับการกินน้ำตาลจากของหวาน ไอศกรีม ช็อกโกแลต หรืออาหารรสหวานหอมอร่อยและจัดจ้าน รวมถึงข้าวหรืออาหารจำพวกแป้งขัดสีและแปรรูป และเกิดจากการติดสารเคมีในน้ำตาลที่จะมีความเหมือนราวกับว่าคุณกำลังติดโคเคน เฮโรอีน แอมเฟตามีน ฝิ่น หรือกัญชาเลยทีเดียว โดยมีแนวโน้มว่าอาการเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับกลไกการให้รางวัลในสมองผ่านสารโดปามีน (สารแห่งความสุข) น้ำตาลที่คุณกินโดยเฉพาะจากอาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูป ซีเรียล ของหวาน ขนมอบกรอบ น้ำหวานน้ำอัดลม เป็นต้น จะอยู่ในร่างกายได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือบางรายอาจหากเสพติดน้ำตาลมากจะมีภาวะความอยากกินหรืออยากของหวานแทบจะทุกชั่วโมง หากไม่ได้กินก็จะมีอาการโมโหหิว หรือเวียนหัว ไม่มีสมาธิ และอาจส่งผลต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

  • จุดสังเกตเมื่อคุณมีความคุ้นเคยกับการกินน้ำตาล แล้วถ้าไม่ได้กินน้ำตาลเป็นปกติหรือขัดจังหวะตารางเวลาการกินปกติของคุณ หรือการอดอาหารจำพวกข้าวหรืออาหารจำพวกแป้งขัดสีหรืออาหารแปรรูปสักมื้อสองมื้อ ร่างกายของคุณอาจแสดงสัญญาณนั้นออกมาในรูปของอาการขาดน้ำตาลดังนี้

✧  เวียนหัวหรือวิงเวียนศีรษะ หรือหน้ามืด บ้านหมุน

✧  มีความอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ง่วงนอน แม้จะเริ่มต้นวัน

✧  สมองเบลอหรือตื้อ มึนๆ ไม่อยากทำกิจกรรมอะไรต่อไป และอยากงีบหลับสักงีบ

✧  คลื่นไส้ ระบบย่อยอาหารมีแก๊สและท้องอืด

✧  ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ

✧  สมาธิสั้น

✧  อารมณ์แปรปรวนต่างจากตอนปกติ

✧  มีระดับความเครียดสูง วิตกกังวล ประหม่า กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย

✧   ซึมเศร้า หดหู่

✧   ปัญหาการนอนไม่หลับ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอแม้จะเข้านอนแต่หัวค่ำ

  • จุดสังเกตเมื่อเวลาที่คุณเสพติดน้ำตาล เมื่อติดสารเคมีในน้ำตาล

✧   แม้กินมื้อหลักอิ่มแต่รู้สึกอยากของหวานแบบไม่กินไม่ได้ เพราะจะเกิดสัญญาณการขาดน้ำตาลทันที

✧    พลังงานจะตกต่ำในช่วงบ่าย หรือมีอาการขาดน้ำตาลในช่วงบ่ายเป็นประจำ ไม่กินของหวานหรือของว่างจะไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้

✧   แม้อาหารหรือเครื่องดื่มจะหวานมากกว่าปกติแล้ว ประสาทการรับรสก็ยังไม่รับรู้หรือด้านชาต่อรสหวานนั้น จนต้องเติมน้ำตาลเพิ่มขึ้นสำหรับอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นๆ และเมื่อนานวันเข้า เมื่อคุณกินอาหารและเครื่องดื่มสูตรเดิม คุณก็จะยิ่งเพิ่มดีกรีความหวานมากขึ้น

✧    นอกจากอยากความหวานตลอดเวลาแล้ว ก็ยังอยากความเค็ม เนื่องจากร่างกายของผู้ติดน้ำตาลขาดสารอาหารที่จำเป็น ที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมใช้งานได้ จากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จึงอยากอาหารรสเค็มและกระหายดื่มน้ำบ่อย

✧   เมื่อพยายามลดหรือควบคุมความหวานจากที่กินอย่างกะทันหันหรือในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการถอนน้ำตาลที่มีลักษณะของอาการขาดน้ำตาลที่อาจความรุนแรงกว่าและแตกต่างกันแต่ละบุคคล ดังนั้นการลดหรือควบคุมความหวานควรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและลดปริมาณน้ำตาลอย่างค่อยเป็นค่อยไป

น้ำตาลทำให้ภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอ

หากคุณคิดว่าด้านดีของหวานและน้ำตาลจะทำให้คุณมีความสุขและยิ้มตลอดวันนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นกับเชื้อแบคทีเรียพันธุ์ดีที่อยู่ในลำไส้ของคุณที่เป็นดั่งพันธมิตรดูแลแลสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของคุณ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นเรามาดูกันว่า 70% ของระบบภูมิคุ้มกันของเราอยู่ในลำไส้ที่เกิดเชื้อจากแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ การรักษาสมดุลของแบคทีเรียพันธุ์ดีในร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่อาหารที่มีน้ำตาลจะเลี้ยงแบคทีเรียพันธุ์ร้าย ยีสต์ รวมถึงเชื้อโรคและเชื้อมะเร็ง ที่จะสร้างปัญหาต่อการมีอยู่ของแบคทีเรียพันธุ์ดีในร่างกายและบั่นทอนต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อมา พร้อมทั้งยังกดภูมิคุ้มกันในด้านพัฒนาการเรียนรู้เพื่อดักจับและกำจัดเชื้อโรคที่กลายพันธุ์ใหม่ๆ ได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้แบคทีเรียพันธุ์ดียังช่วยในเรื่องของระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายคุณให้มีประสิทธิภาพ

น้ำตาลทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานสะอาดในตัวคุณให้เกิดประโยชน์ได้

หากคุณได้รับข้าวหรืออาหารจำพวกแป้งขัดสีและเข้าสู่ร่างกาย แหล่งพลังงานหลักสำหรับร่างกายคุณก็จะกลายเป็นน้ำตาลในท้ายที่สุด จนลืมไปเลยว่าคุณยังมีแหล่งพลังงานที่ดีกว่านั้นก็คือ ไขมันที่ได้จากสัตว์ น้ำมันพืชธรรมชาติที่ไม่ผ่านการสังเคราะห์และแปรรูป ที่เป็นสุดยอดพลังงานให้แก่ร่างกายมนุษย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ไขมันเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์กว่าน้ำตาล แป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต และเมื่อร่างกายได้เผาผลาญไขมันที่สะสมไว้ในร่างกายก็จะไม่ก่อให้เกิดการอักเสบต่อเซลล์และเนื้อเยื่อเหมือนพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญจากน้ำตาลหรือแป้ง จึงเปรียบได้ว่า ไขมันนั้นเป็นพลังงานสะอาดสำหรับร่างกาย เมื่อร่างกายเผาผลาญจะไม่มีสารหรือมลพิษตกค้าง (สารอนุมูลอิสระ) และพลังงานจากน้ำตาลหรือแป้งนั้นจะได้ผลตรงกันข้าม การที่ร่างกายจะสามารถใช้พลังงานจากไขมันที่เรากินเข้าไปและไขมันส่วนเกินที่สะสมในร่างกายแทนแป้ง น้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นไขมันจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและดีที่สุดสำหรับร่างกายต้องมีการฝึกให้ร่างกายเกิดภาวะ Ketosis ที่ร่างกายจะการสลายไขมัน เรียกว่า คีโตน (Ketone) โดยการฝึกการกินแบบ Intermittent Fasting (IF) และ Low-Carb Diet เป็นรูปแบบการกินอาหารที่มีระยะเวลาการอดอาหารหรือเว้นว่างระยะเวลาสำหรับอาหารมื้อต่อไป

ปัญหาอื่นๆ

  • โรคฟันผุและปัญหาสุขภาพช่องเหงือก

น้ำตาลมีความเชื่อมโยงกับฟันผุอย่างไร เพราะแบคทีเรียพันธุ์ร้ายที่ชอบกินน้ำตาลและแป้งต่อจากคุณจะย่อยน้ำตาลเป็นกรดที่สามารถสลายเนื้อฟันของคุณจนกลลายเป็นรูผุสีดำและสามารถลึกได้ถึงรากฟัน เพื่อรักษาสุขภาพฟันของคุณและป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุ คุณจะต้องพยายามควบคุมการกินน้ำตาลและรักษาความสะอาดช่องปากให้ดีที่สุด เมื่อคุณลดระดับน้ำตาลคุณจะลดความเสี่ยงการเกิดโรคฟันผุและยังช่วยรักษาเรื่องของกลิ่นปากที่จะเสริมบุคลิกภาพที่ดีแก่คุณ

  • ทำลายความสมดุลของฮอร์โมน

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะถูกแปลงเป็นไขมันไปพอกตับ การผลิตไขมันส่วนเกินจะแสดงอีกนัยยะหนึ่งว่าฮอร์โมนเพศที่มีความเกี่ยวข้องกับโกลบูลิน (Globulin) หรือ SHBG จะหยุดทำงาน เพราะโกลบูลินมีหน้าที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน (Testosterone) และฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) แต่เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ชายมักจะสูญเสียฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ในขณะที่ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของผู้หญิงสามารถเพิ่มหรือลดลงได้ จึงเกิดอาการภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น ปวดศีรษะ เวียนหัว เครียดง่าย หลงลืมบ่อย น้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึมเศร้า เหนื่อยล้าอ่อนเพลียเรื้อรัง สิวขึ้นเห่อ ความต้องการทางเพศลดน้อยลง เป็นต้น

  • สมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมก่อนวัยอันควร

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังบั่นทอนสมรรถภาพทางเพศของคุณให้เสื่อมลง เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังฮอร์โมนอินซูลินจะพุ่งสูงขึ้นตาม ทำให้ร่างกายขาดความสมดุลฮอร์โมนเพศ เมื่อคุณลดน้ำตาล สมรรถภาพทางเพศของคุณจะดีขึ้น

10 เคล็ดลับลด ละ เลิกน้ำตาล เพื่อสุขภาพดีระยะยาว

1.  ฝึกการกินแบบ Intermittent Fasting (IF) และ Low-Carb Diet เป็นหนึ่งในรูปแบบของการกินในช่วงวิวัฒนาการของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคหินเก่า (Paleolithic Age) หรือราวๆ 2.5 ล้านปี – 10,000 ปี ก่อนคริสตกาล ที่ร่างกายมีการปรับการกินเพื่ออยู่รอดให้เหมาะกับมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปี้ยน (Homo sapiens) หรือบรรพบุรุษของมนุษย์สมัยปัจจุบันที่เริ่มพัฒนาเผ่าพันธุ์ตัวเองขึ้นมา โดยที่มนุษย์สมัยนั้นจะมีอาหารและช่วงเวลาการกินที่จำกัด อาหารจะเป็นประเภทโปรตีน ไขมันเป็นหลัก และพืชผักจากธรรมชาติที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอย่างดี  เพราะในมนุษย์ยุคนั้นยังไม่มีองค์ความรู้สำหรับการทำการเกษตรได้มากพอที่จะเพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหารนำมาเป็นอาหารหรือแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน อาหารแต่ละมื้อจึงได้จากการล่าเนื้อและเก็บของป่าเพื่อความอยู่รอดเป็นหลักโดยจะมีระยะเวลาการอดอาหารหรือเว้นว่างระยะเวลาสำหรับการหาและล่าอาหารมื้อต่อไป ซึ่งหากไม่นับการโฆษณาและองค์ความรู้ที่แปรเปลี่ยนจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ถูกถ่ายทอดส่งต่อมาในช่วงไม่กี่ศตวรรษนี้ที่ได้สร้างความเคยชินให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันต้องกิน 3-6 มื้อต่อวันหรืออาจจะมากกว่านั้น (หากคุณไม่ใช่อยู่ในช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต นักกีฬา นักเพาะกาย ยิ่งมากมื้อเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นเท่านั้น) เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความหิวสามารถควบคุมชีวิตเราอย่างขาดเสียมิได้ ทำให้คุณนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง โรคภูมิแพ้ต่างๆ เป็นต้น สำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบันการกินรูปแบบนี้จะช่วยป้องกันและบำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเป็นวิธีการควบคุมน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง โดยรูปแบบการกินนั้นมีหลากหลายให้เข้ากับเวลาที่คุณสามารถเลือกให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของคุณเองได้ เป็นการฝึกพฤติกรรมและลักษณะนิสัยการกินของคุณให้มีวินัยอย่างดี เลือกสรรอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพแบบอาหารที่ปราศจากการปรุงแต่ง (Whole Foods) หรืออาหารที่เป็นธรรมชาติ และช่วยลด ละ เลี่ยงอาหารที่เป็นโทษต่อสุขภาพ และ หนึ่งในนั้นคือน้ำตาลและแป้งที่มากเกินไป ที่คุณจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้ออินซูลินที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคเบาหวานและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมานั้นเอง

  • การอดอาหารตามช่วงระยะเวลาจะช่วยปรับสมดุลในร่างกายได้อย่างดี มีประโยชน์ที่สำคัญ ได้แก่

☑   เกิดกระบวนการปรับความสมดุลทางเคมี ระบบการเผาผลาญ และฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ปรับภาวะการดื้ออินซูลินหรือเลปติน ไขมันพอกตับ ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง เป็นต้น ให้กลับการทำงานในร่างกายปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

☑   เกิดกระบวนการคีโตซิส (Ketosis) ที่ร่างกายจะสามารถใช้พลังงานจากไขมันที่เรากินเข้าไปและไขมันส่วนเกินที่สะสมในร่างกายแทนแป้ง น้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นไขมันจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและดีที่สุดสำหรับร่างกายมนุษย์

☑   เกิดกระบวนการ Brain-derived Neurotrophic Factor (BDNF) เป็นการสร้างโปรตีนที่ควบคุมกระบวนการสร้างเซลล์ระบบประสาทใหม่ การจัดเรียงและส่งต่อข้อมูลของระบบประสาทให้มีความเร็วและประสิทธิภาพต่อการเรียนรู้ ความจำ และไหวพริบ ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบบประสาทและสมอง เช่น โรคโรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน เป็นต้น

☑   เกิดโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ในระดับที่สูงขึ้น ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของสมอง ควบคุมปริมาณไขมันและกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อเนื้อเยื่อ และกระดูกภายในร่างกาย ไปจนถึงระบบเผาผลาญ เช่น การทำงานของอินซูลิน และปรับระดับน้ำตาลในเลือดอีกให้อยู่ในภาวะปกติด้วย และประสิทธิภาพการทำงานยีนเซอร์ทูอิน (Sirtuin) ที่มีมากขึ้น จะช่วยฟื้นฟูเซลล์ การซ่อมแซมในระดับดีเอ็นเอ

☑   เกิดกระบวนการที่สำคัญ คือ กระบวนการ Autophagy เป็นกลไกการกินตัวเองของเซลล์ที่จะกำจัดเซลล์ที่สลายตัวได้ไม่สมบูรณ์ เป็นเศษซากเซลล์ หรือเป็นเซลล์ที่อ่อนแอ มีอายุมาก เซลล์ที่มีรูปร่างหรือการเจริญเติบโตแบบผิดปกติที่จะเสี่ยงต่อการกลายเป็นเซลล์มะเร็ง และยังกำจัดโปรตีนและออร์แกเนลล์ที่เสียหาย และเริ่มนำส่วนประกอบของเซลล์ที่กลืนกินนั้นกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งสามารถทำลายแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ ที่กำลังฝังตัวเพื่อก่อโรคในอนาคต ลดและชะลอการความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีความอ่อนเยาว์จากเซลล์ที่ถูกสร้างใหม่ทุกส่วนจากกระบวนการนี้ ซึ่งกระบวนการนี้จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการอดอาหารที่ยาวนาน (Prolonged Fasting) กว่าการฝึก Intermittent Fasting (IF) และ Low-Carb Diet ปกติ

สำหรับผู้สนใจที่จะปรับเป็นรูปแบบการกินนี้อาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของอาหาร โภชนาการ และหลักการกินให้เข้าใจอย่างดี เพราะสุขภาพร่างกายของคนเราต่างกันจึงอาจต้องระวังสำหรับการดูแลสุขภาพในรูปแบบที่อาจยังไม่คุ้นชิน และควรค่อยๆ ฝึกเพื่อหาความเหมาะสมของรูปแบบการกินเพื่อสุขภาพ อย่าเปลี่ยนรูปแบบโดยฉับพลัน สำหรับบางท่านหากมีปัญหาสุขภาพบางอย่างอยู่ก่อนแล้วควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวคุณหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก่อนปรับการกินมาเป็นการกินแบบ Intermittent Fasting (IF) และ Low-Carb Diet

2.  เลือกอาหารที่เป็นอาหารจริงๆ สำหรับร่างกายของเรา (Whole Foods) ความหมายคือ อาหารที่ปราศจากการปรุงแต่งไม่เป็นอาหารที่ผ่านการแปรรูปหรือใช้การสังเคราะห์ทางเคมีสูง รวมถึงไม่ผสมสารกันเสีย น้ำตาล สารตกแต่งเพิ่มรสชาติหรือสีสันต่างๆ หากเป็นอาหารประเภทธัญพืชควรเป็นธัญพืชไม่ขัดสี หากเป็นอาหารประเภทพืชผักควรเป็นผักใบเขียวและที่เจริญเติบโตบนดิน ส่วนผักที่เป็นหัวใต้ดินและผลไม้ควรเลือกชนิดที่ไม่กระตุ้นอินซูลินของคุณมากไป และในอาหารประเภท Whole Foods ของคุณ ผลไม้และผักหลายชนิดยังคงมีน้ำตาลตามธรรมชาติ แต่แป้งและเส้นใยในอาหารเหล่านี้ทำให้กระบวนการย่อยอาหารช้าลงและทำให้คุณรู้สึกอิ่มมากขึ้นและได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างดีกว่าการแปรรูปหรือการสังเคราะห์ และเครื่องดื่มที่เป็นสุดยอดตลอดกาลต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลก็คือ น้ำเปล่าสะอาด ที่คุณไม่จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งให้ดูมีสารอาหารที่จำเป็นหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหอมหวานมันหรือแปรรูปเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น หากคุณกินอาหาร Whole Foods อย่างถูกหลักการ ทั้งด้านความรู้การกินแบบ Intermittent Fasting (IF) และ Low-Carb Diet และตามหลักโภชนาการ เป็นสิ่งที่ท้าทายมากกับที่คุณพยายามหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มสังเคราะห์ปรุงแต่งที่น่าชิมและหอมอร่อยในยุคปัจจุบันออกจากอาหารของคุณไปให้น้อยที่สุดหรือไม่กินดื่มเลย

3.  ตัดของว่างและดื่มน้ำเปล่าสะอาดระหว่างมื้อให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายสดชื่น หรือจะใช้ตัวช่วยเป็นเครื่องดื่มประเภทชาเขียว หรือกาแฟดำ ไม่เกิน 4-5 แก้วกาแฟต่อวัน แรกๆ คุณอาจจะประสบกับการปัสสาวะบ่อย แต่ปัญหานี้จะหายไปพร้อมกับพฤติกรรมการกินจุกจิก

4.  เพิ่มสัดส่วนของหมวดหมู่อาหารประเภท โปรตีน ไขมัน และผักใบเขียว เพื่อให้คุณอิ่มได้นาน

5.  ระวัง !! น้ำตาลแปรรูปแฝงที่ซ่อนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบแรกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลสูง เช่น น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลอ้อย เป็นต้น รวมถึงที่ระบุสรรรพคุณความหวานที่นิยมนำมาเป็นส่วนผสมยาหรือมาจากธรรมชาติ เช่น น้ำผึ้ง ว่านหางจระเข้ น้ำเชื่อมเมเปิ้ล น้ำเชื่อมข้าวกล้อง และน้ำผลไม้เข้มข้น เป็นต้น หากมีความเข้มข้นสูงตามที่ระบุไว้ควรหลีกเลี่ยง และที่สำคัญ สิ่งต้องห้ามเลยคือส่วนผสมความหวานที่มาจากน้ำเชื่อมข้าวโพด (High Fructose Corn Syrup: HFCS) ที่มีฟรุกโตสสูงที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดไขมันพอกตับ และเป็นที่นิยมมากในการทำส่วนผสมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เพราะมีราคาถูกกว่าน้ำตาลปกติมากจึงถูกนำมาใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารเพื่อลดต้นทุนในการผลิต จะเป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นความอยากอาหารและของหวานเพิ่มขึ้น ทำให้คุณอยากน้ำตาลและต้องกินมันมากยิ่งขึ้น ตัวอย่าง เช่น น้ำอัดลม ชาเย็นหรือกาแฟรสหวานหอมมัน เครื่องดื่มเกลือแร่ อาหารประเภทซีเรียลอาหารเช้า ลูกอมเจลลี่ นมผงทารกบางชนิด เป็นต้น

6.   หากคุณต้องการใช้สารแทนความหวานเพื่อจะได้ควบคุมความอยากน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ ให้มองหาสารแทนความหวานที่มีค่า Glycemic Index (GI) ที่ต่ำที่จะมีอัตราการกระตุ้นอินซูลินในร่างกายต่ำ เช่น อิริทริทอล หญ้าหวาน หล่อฮังก้วย เป็นต้น ยิ่งค่า GI ต่ำ จะเป็นผลดีต่อการการบำบัดหรือหลีกเลี่ยงการเสพติดน้ำตาล และการดูแลสุขภาพของคุณในระยะยาว

7.   เรียนรู้เทคนิคการอ่านระบบฉลากอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารต่างๆ อย่างรู้ทัน เพราะบางทีการแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์มักแฝงไปด้วยสูตรการใช้สูตรคำนวณที่จะทำให้คุณสบายใจในส่วนปริมาณผสมบางอย่างโดยเฉพาะปริมาณน้ำตาล สารเคมีในอาหาร ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณเมื่อบริโภคในระยะยาว

8.   ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฝึกระบบเผาผลาญร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ตลอด

9.  หมั่นหาความรู้หรืออัพเดตองค์ความรู้ด้านสุขภาพเพื่อนำพัฒนาและดูแลสุขภาพตนเอง เพราะในยุคปัจจุบันความรู้ด้านสุขภาพใหม่ๆ จะได้รับการค้นคว้าและพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีความถูกต้องและแม่นยำสูง จึงทำให้คุณรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์หรืออาจให้โทษต่อสุขภาพคุณได้ ซึ่งบางอย่างเป็นความเชื่อที่เชื่อต่อกันมาว่าดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพ แต่พอกาลเวลาเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมานั้นก็อาจจะมีทั้งที่ถูกต้องหรือเกิดการเข้าใจผิดต่อๆ กันมาได้ ดังนั้น สุขภาพของคุณจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่คุณจะเข้าใจกลไกการทำงานและการตอบสนองของร่างกายต่อการกินอยู่ และการดูแลสุขภาพอย่างเข้าใจด้วยเหตุด้วยผลจะสร้างความมั่นใจต่อการดูแลสุขภาพของคุณในระยะยาว

10.   ปรึกษาสุขภาพกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ไปจนถึงการตรวจประเมินสุขภาพเพื่อให้คุณได้รู้เชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของคุณ พร้อมคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่จะเป็นแนวทางดูแลสุขภาพของคุณไปพร้อมกับการใช้ชีวิตที่คุณต้องการได้อย่างเหมาะสม

『 1 ทางลัด 』ที่จะลด ละ เลิกติดน้ำตาลหรือความหวานได้อย่างไม่ฝืน

นั่นก็คือ การติดตามอาการเสพติดน้ำตาลหรือความหวานได้ด้วยการตรวจสุขภาพ ติดตามค่า HbA1C เป็นประจำเพื่อสร้างเป้าหมายและแรงบันดาลใจในการลด ละ เลิกน้ำตาล และการติดหวาน เพื่อสุขภาพดีในระยะยาว โดยค่า HbA1C จะบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยในช่วง 3 เดือน ซึ่งปกติจะวัดทุก 3-6 เดือน

ทำไมการตรวจสุขภาพติดตามค่า HbA1C เป็นประจำจึงมีความสำคัญ 

ค่า HbA1C เป็นการบ่งชี้ว่าระดับน้ำตาลในเลือดควบคุมได้ดีเพียงใด เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting BLood Sugar/Glocose: FBS) อาจผันผวนได้แบบนาทีต่อนาที แต่ค่า HbA1C จะช่วยให้คุณและแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทราบว่าระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ใช้ติดตามการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินภาพรวมสุขภาพ หรือความเสี่ยงภาวะก่อนเบาหวาน (ขึ้นอยู่กับค่า HbA1C หรือระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ย) ช่วยประเมินการดูแลรักษาสุขภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายและไลฟ์สไตล์เพื่อให้คุณมีสุขภาพดีและใช้ชีวิตตามไลฟ์ไสตล์ได้อย่างเต็มที่

การลดหรือควบคุมค่า HbA1C สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวได้ การศึกษาวิจัยจาก 3 แหล่ง ได้เแก่ UK Prospective Diabetes Study (UKPDS) Diabetes Control and Complications Trial (DCCT) และ Journal of Diabetes Investigation แสดงให้เห็นว่าการดูแลสุขภาพเพื่อปรับปรุงค่า HbA1C ให้ลงเพียง 1% (หรือ 11 มิลลิโมล/โมล) สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานชนิดที่ 2 จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดขนาดเล็กถึง 25% และยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ได้ โดยจำแนก 2 กรณี คือ

  • กรณีที่ค่า HbA1C เท่ากับหรือมากกว่า 10% จะมีความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดขนาดเล็กรวมถึง:

❈  จอประสาทตาเสื่อม (โรคตา)

❈  โรคระบบประสาทเสื่อม

❈  โรคไตจากเบาหวาน (โรคไต)

❈  ภาวะไขมันในเลือดสูง

❈  ความรุนแรงต่อโรคโควิด-19 (มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลต่อความรุนแรงต่อโรคระบาดใหญ่อื่นๆ ในอนาคต)

  • กรณีที่ค่า HbA1C เท่ากับหรือน้อยกว่า 6.5% การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถลดระดับค่า HbA1C ลง 1% คือ:

❈  มีโอกาสเป็นต้อกระจกน้อยลง 19%

❈  มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวน้อยลง 16%

❈  มีโอกาสน้อยลงถึง 43% ที่จะถูกตัดขา ตัดมือ หรือเสียชีวิตเนื่องจากโรคหลอดเลือดส่วนปลาย

❈  ภาวะไขมันในเลือดสูง

❈  ผู้ที่มีค่า HbA1C เท่ากับหรือน้อยกว่า 6.5% จะเสี่ยงต่อความรุนแรงต่อโรคโควิด-19 น้อยกว่าผู้ที่มีระดับ HbA1C เท่ากับหรือมากกว่า 10% 

ระดับค่า HbA1C ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

การที่กำหนดเป้าหมายค่า HbA1C นั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมายการดูแลสุขภาพว่าต้องการเช่นไร เช่น การมีอายุยืนอย่างแข็งแรงหลังเกษียณ การมีสุขภาพที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่โดยไม่เป็นโรคเรื้อรังหรือร่างกายอ่อนแอก่อนวัยอันควร เป็นต้น โดยสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์อันคุ้มค่าของการลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงหรือต่ำเกินไปมาจากความแปรปรวนภาวะการเสพติดน้ำตาลหรือความหวาน

ค่า HbA1C ที่เหมาะสมควรอยู่ที่ ≤6.5-7.0% สำหรับบุคคลส่วนใหญ่และบุคคลที่เริ่มเป็นภาวะก่อนเบาหวานและภาวะหลอดเลือดหัวใจ (ในเริ่มแรกที่กำลังรักษาหรือควบคุมโรค) และผู้ที่ต้องการมีอายุยืนอย่างแข็งแรง ในระยะยาวดูแลและติดตามค่า HbA1C ที่ระดับ ≤5.7%

สรุป

การรับประทานน้ำตาลที่เติมมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายอย่าง อาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากเกินไป จะส่งผลต่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจนเป็นโรคอ้วนลงพุงและนำไปสู่ปัญหาระบบการเผาผลาญในร่างกายหรือภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง เกิดภาวะดื้ออินซูลินที่นำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน และความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาต่อสุขภาพอื่นๆ ดังที่กล่าวมาในเนื้อหานี้

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ น้ำตาลที่เติมในอาหารทุกมื้อและเครื่องดื่มทุกหยดควรมีให้น้อยที่สุด หรืออาจจะไม่ใส่ผสมเลย หากคุณต้องการลดน้ำตาลจากอาหารของคุณ ให้ลองทำการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้แนะนำในหัวข้อเคล็ดลับลด ละ เลิกน้ำตาล เพื่อสุขภาพดีระยะยาวสำหรับคุณ

หากคุณสนใจเนื้อหานี้ เราขอแนะนำ โปรแกรมตรวจสุขภาพ “เบาหวาน…ไม่เบาใจ” เพื่อดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานที่มีต้นเหตุจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปเป็นโรคเรื้อรัง (โรค NCDs) ตามมาอีกหลายโรค เพราะการ “ตรวจสุขภาพก่อน ป้องกันได้” ที่พาธแล็บ ศูนย์ตรวจสุขภาพ ที่รู้ใจสุขภาพของคุณ

โปรแกรมตรวจสุขภาพ
“เบาหวาน…ไม่เบาใจ”

เช็คให้ชัวร์ก่อนสาย ภัยร้ายจากเบาหวานสามารถป้องกันได้
เบาหวานได้กลายเป็นโรคที่พบมากในคนไทย ดังนั้น การตรวจคัดกรองคือหนทางการเฝ้าระวัง
หากมีการตรวจพบความเสี่ยงยังช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยน
พฤติกรรมการกิน และควบคุมปริมาณอาหารให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมและทันท่วงที

รายละเอียดเพิ่มเติม >> ◕ กดคลิก <<

ข้อมูลโดย :

ทนพ. ชาญเวช ตันติกัลยาภรณ์

นักเทคนิคการแพทย์

พาธแล็บ ศูนย์ตรวจสุขภาพ สาขาแจ้งวัฒนะ

Pathlab Healthcare Center: Chaengwattana Center
Tel. [ กดโทร ]  02 573-3490-1

พาธแล็บ ศูนย์ตรวจสุขภาพ ยินดีให้คำแนะนำ เพื่อให้คุณได้รับการตรวจสุขภาพได้อย่างเหมาะสมที่สุด สามารถสอบถามทีมเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ของเรา เพื่อขอคำแนะนำก่อนเข้ารับการตรวจได้ทาง:


ศูนย์บริการพาธแล็บ  [ ◕ กดโทร ]  02 619-2299 หรือ 02 619-2288


Facebook Inbox  [ ◕ กดคลิก ]  th.pathlab.link/inbox


LINE Official  [ ◕ กดคลิก ]  th.pathlab.link/LINE

Website  [ ◕ กดคลิก ]  www.pathlab.co.th


Location สาขาใกล้ๆ คุณ  [ ◕ กดคลิก ]  th.pathlab.link/google-maps

อ้างอิงจาก:

  • กรมสุขภาพจิต. (2561). “ปล่อยให้หิว เคล็ดลับชลอวัย ทำให้อายุยืน”. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565. จากเว็บไซต์: https://dmh.go.th/news/view.asp?id=1219
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. (2562). “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs)”. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565. จากเว็บไซต์: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1371
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์แพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล. (2563). “สุขภาพดี ทำได้ง่ายๆ แค่…ลดหวาน”. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565. จากเว็บไซต์:  https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/sweet/
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. (2563). “กลุ่มอาการอ้วนลงพุง”. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565. จากเว็บไซต์: https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/242_49_1.pdf
  • Department of Anatomy, Faculty of Science, Mahidol University. (2021). “Brain-derived neurotrophic factor increases cell number of neural progenitor cells derived from human induced pluripotent stem cells”. Retrieved July 8, 2022, from https://anatomy.sc.mahidol.ac.th/pp-bdnf/
  • Masharani, et al. (2015). “Metabolic and physiologic effects from consuming a hunter-gatherer (Paleolithic)-type diet in type 2 diabetes”. Retrieved July 8, 2022, from https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25828624/
  • National Library of Medicine. (2011). “Sugar substitutes: Health controversy over perceived benefits”. Retrieved July 8, 2022, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3198517/
  • National Library of Medicine. (2014). “The Diabetes Control and Complications Trial/Epidemiology of Diabetes Interventions and Complications Study at 30 Years: Overview”. Retrieved July 7, 2023, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3867999/
  • National Library of Medicine. (2020). “Advantages and Disadvantages of the Ketogenic Diet: A Review Article”. Retrieved July 8, 2022, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7480775
  • National Library of Medicine. (2020). “Unravelling the health effects of fasting: a long road from obesity treatment to healthy life span increase and improved cognition”. Retrieved July 8, 2022, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7877980/
  • National Library of Medicine. (2021). “Haemoglobin A1c is a predictor of COVID-19 severity in patients with diabetes”. Retrieved July 7, 2023, from https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32852883/