เรื่องน่ารู้:
- โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติจากการที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติที่เหมาะสมได้
- การปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้มีวินัยทางด้านสุขภาพมีความสัมพันธ์ต่อการควบคุมเบาหวานได้อย่างดี
- การเกิดโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าโรคเบาหวานในวัยผู้ใหญ่ และโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะควบคุมได้ยากมากกว่าโรคเบาหวานในวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากสภาวะด้านอารมณ์และการตัดสินใจที่มีโอกาสสูงทำให้ขาดวินัยในการควบคุมเบาหวาน
- การตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน เป็นอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันโรค
ทำไม? เด็กและวัยรุ่นก็เสี่ยงเป็นเบาหวานได้
โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติจากการที่ร่างกายไม่สามารถหลั่งสารอินซูลินในปริมาณที่เพียงพอเพื่อมาจัดการกับระดับน้ำตาล หรือเกิด “ภาวะดื้ออินซูลิน” ที่สารอินซูลินที่ร่างกายหลั่งมานั้นมีประสิทธิภาพไม่ดีพอต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ที่จะส่งผลต่อไปต่อกระบวนเผาผลาญหรือกระบวนการเปลี่ยนอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคเข้าไปให้กลายเป็นพลังงานโดยเฉพาะน้ำตาล โดยหากระดับน้ำตาลในเลือดไม่สามารถถูกควบคุมให้อยู่ในระดับปกติจะส่งผลกระทบที่สามารถทำลายหัวใจ หลอดเลือด ไต และระบบประสาท นอกจากนี้อาจทำให้สูญเสียการมองในระยะยาวได้ โรคเบาหวานมีหลายชนิดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ที่เด็กเล็กและวัยรุ่นสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะเป็นกันมากขึ้น เพราะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การกินอาหาร Fast Food หรืออาหารที่หวานจัด เป็นอาหารประเภทแป้งในสัดส่วนที่สูง มีแคลอรี่สูงต่อมื้อ การเกิดโรคอ้วน ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเกิดจากกรรมพันธุ์ เป็นต้น
สาเหตุโรคเบาหวานชนิดที่ 1:
สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และพบได้บ่อยสำหรับโรคเบาหวานเด็กและวัยรุ่น สาเหตุเกิดจาก:
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อน โดยสาเหตุยังไม่เป็นที่แน่ชัดซึ่งวงการแพทย์ได้ทำการวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไป เมื่อเกิดสภาวะนี้ร่างกายจะไม่สามารถเผาผลาญและนำน้ำตาล (Glucose) ที่อยู่ภายในกระแสเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม รวมถึงไม่สามารถขับออกทางปัสสาวะได้อย่างเป็นปกติ จึงทำให้เกิดสภาวะน้ำตาลในร่างกายมากเกินไป
สาเหตุโรคเบาหวานชนิดที่ 2:
มีโอกาสพบได้ในวัยรุ่น สาเหตุเกิดจาก:
● ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอและเซลล์ไม่สามารถนำน้ำตาล (Glucose) มาใช้ในการสร้างพลังงานได้ดีนัก
● ในวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และมีประวัติครอบครัวที่เคยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ จึงส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
● ผู้ที่มีชาติพันธ์ุที่เป็นชาวเอเชียใต้ที่มีมีอายุ 25 ปีขึ้นไป
● จะมีความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
โรคเบาหวานในเด็ก แตกต่างจาก โรคเบาหวานในผู้ใหญ่ อย่างไร ?
- หากเกิดโรคเบาหวานในเด็กและวัย จะทำให้มีโอากาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้เยอะกว่าในวัยผู้ใหญ่
- เนื่องจากวัยเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตและการแปลงเปลี่ยนทางด้านอารมณ์ และใช้ความรู้สึกมากกว่าอารมณ์ในการตัดสินใจเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจส่งผลต่อการควบคุมการรักษาหรือควบคุมอาการของโรคได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ จึงอาจจะต้องใช้บุคคลรอบข้าง เช่น ผู้ปกครอง หรือญาติ ในการดูแลร่วมด้วย
อาการที่สังเกตได้
- ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
- ดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือกระหายน้ำบ่อยครั้ง
- มีความอยากอาหารอยู่บ่อยๆ
- การมองเห็นพร่ามัวไม่ชัดเจนหรือเกิดภาพซ้อน, บาดแผลหายช้า
- ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้หวาน
- รู้สึกเหนื่อยล้าและหงุดหงิดง่าย
- น้ำหนักลดลงทั้งที่กินจุ
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง เป็นแผลแล้วอักเสบง่ายหายยาก ในเด็กหญิงบางรายอาจติดเชื้อในช่องคลอด
โดยจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน
ความเสี่ยงต่อภาวะโรคแทรกซ้อน
- เบาหวานขึ้นตา ทำให้ตามองเห็นไม่ชัด และอาจร้ายแรงถึงตาบอด หากมีการติดเชื้อหรืออักเสบร่วมด้วย
- โรคไต การเป็นโรคเบาหวานในระยะเวลานานๆ จะทำให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ส่งผลทำให้ไตเสื่อม จากรายงานข้อมูลจาการรายงานผลการลงทะเบียนรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยในปี 2556 คนไทยที่เป็นโรคไตวายมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- หลอดเลือดแดงตีบตัน มีแข็งและเปราะบางกว่าปกติ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือแตก ที่จะเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต และการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายมากขึ้น
- ระบบประสาทเสื่อม มีอาการชาบ่อยๆ การรับความรู้สึกตามอวัยวะต่างๆ ลดลงจนไร้ความรู้สึก เช่น มือ เท้า ก้น เป็นต้น
- การติดโรคโควิด-19 (Covid-19) สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่มีสุขภาพปกติ ที่จะมีผลต่อการเกิดอาการอักเสบที่รุนแรงต่อเนื้อเยื่อปอด และระบบทางเดินหายใจที่ขัดข้อง
สามารถป้องกันเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นได้หรือไม่
หากจะหาวิธีที่ป้องกันได้แบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีการระบุได้จากวงการแพทย์สากล โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และที่มีสาเหตุมาจากทางกรรมพันธุ์ แต่มีหลักฐานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถดูแลและป้องกันตัวเองในเบื้องต้นได้จากการปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้มีวินัยมากขึ้น เช่น หากมีภาวะน้ำหนักเกินต้องลดน้ำหนักเพื่อลดความเสี่ยง การเลือกกินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัด มันจัด เลือกกินอาหารตามหลักโภชนาการจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น
การดูแลและรักษาโรคเบาหวานสำหรับผู้ป่วยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะมีส่วนป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะมากับโรคเบาหวานทั้ง 2 ประเภทได้ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
● โรคเบาหวานชนิดที่ 1
จะต้องใช้อินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยจะต้องตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ และการคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับประทานและดื่ม วิธีนี้จะทำให้รู้ปริมาณการใช้อินซูลินต่อปริมาณสารอาหารที่บริโภคได้อย่างเหมาะสม การสร้างสุขภาพที่ดี การออกกำลังกายเป็นประจำ และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างเหมาะสมตามหลักโภชนาการ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นได้
● โรคเบาหวานชนิดที่ 2
จัดการการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างเหมาะสมตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการรักษาน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่บางรายก็ต้องใช้ยาด้วย เช่น ยาเม็ดและอินซูลิน หรือการรักษาอื่นๆ และควรทดสอบระดับกลูโคสในเลือดเหมือนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และรักษาตามหลักเวชปฏิบัติทั่วไป (GP: General Practitioner) ที่จะเป็นแนวทางได้ว่าควรจะดูแลและรักษาอย่างไรให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
สรุป
“การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา” โดยการปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้มีวินัยทางด้านสุขภาพมากขึ้น เช่น หากมีภาวะน้ำหนักเกินสามารถการลดน้ำหนักเพื่อลดความเสี่ยง การเลือกกินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ หลีกเลี่ยงการกิจอาหารรสหวานจัด มันจัด เลือกกินอาหารตามหลักโภชนาการ จัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองท่านใดเกิดข้อสงสัยหรือต้องการทราบถึงสุขภาพของบุตรหลานของท่านว่ามีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือไม่ อาจจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน
ข้อมูลโดย :
พาธแล็บ ศูนย์ตรวจสุขภาพ สาขาแจ้งวัฒนะ
Pathlab Healthcare Center: Chaengwattana Center
Tel. [ กดโทร ] 02 573-3490-1
พาธแล็บยินดีให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ หรือหากสนใจบริการของเราสามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์บริการพาธแล็บ [ กดโทร ] 02 619-2299 หรือ 02 619-2288
Facebook Inbox [ กดคลิก ] th.pathlab.link/inbox
LINE Official [ กดคลิก ] th.pathlab.link/LINE
Website [ กดคลิก ] www.pathlab.co.th
Location สาขาใกล้ๆ คุณ [ กดคลิก ] th.pathlab.link/google-maps
อ้างอิงจาก:
- คลังความรู้สุขภาพกระทรวงสาธารณสุข. กระทรวงสาธารณสุข. (2562). “โรคไตจากเบาหวาน”. สืบค้นเมื่อวันที่ 05 ม.ค. 2564. จากเว็บไซต์: http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=227
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2561). “เบาหวานในเด็กและผู้ใหญ่ต่างกันหรือไม่”. สืบค้นเมื่อวันที่ 05 ม.ค. 2564. จากเว็บไซต์: https://www.thaihealth.or.th/Content/42632-เบาหวานในเด็กและผู้ใหญ่ต่างกันหรือไม่.html
- ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเปรมฤดี ภูมิถาวร. สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น”. สืบค้นเมื่อวันที่ 05 ม.ค. 2564. จากเว็บไซต์: https://med.mahidol.ac.th/th/knowledge_awareness_health/30jan2020-1536
- American Academy of Pediatrics. “Type 2 Diabetes: Tips for Healthy Living”. Retrieved January 05, 2021, from https://www.healthychildren.org/English/health-issues/conditions/chronic/Pages/Type-2-Diabetes-A-Manageable-Epidemic.aspx
- National Diabetes Statistics Report. the Centers for Disease Control and Prevention (CDC) of USA. (2020). “Estimate of Diabetes and Its Burden in the United States”. Retrieved January 05, 2021, from https://www.cdc.gov/diabetes/pdfs/data/statistics/national-diabetes-statistics-report.pdf
- The British Diabetic Association operating as Diabetes UK. “Differences between type 1 and type 2 diabetes”. Retrieved January 05, 2021, from https://www.diabetes.org.uk/diabetes-the-basics/differences-between-type-1-and-type-2-diabetes