ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
รู้ช้าเกินไป ไม่ดีแน่นอน!

เนื้อหา

เรื่องน่ารู้:

  • ต่อมไทรอยด์ มีความเชื่อมโยงกับการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ โดยผลิตฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine, T4) ไตรไอโอโดไธโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine, T3) และแคลซิโทนิน (Calcitonin)
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยหรือไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้งานของร่างกายที่จะไปสนับสนุนระบบเผาผลาญพลังงานภายในเซลล์และเนื้อเยื่อ และส่งผลต่อการทำงานระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบหัวใจ จิตใจและอารมณ์ สมรรถภาพทางเพศ และการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายที่ไม่คงที่
  • สามารถพบได้ประมาณ 2-5% ของประชากรทั่วไป โดยประมาณ 15% เป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป มีโอกาสพบในเพศหญิงมากกว่าในเพศชายถึงประมาณ 2-8 เท่า
  • สามารถพบได้ในเด็กทารก 1 ใน 3,000-4,000 คน ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตช้า ฟันขึ้นช้า ร่างกายแคระแกร็น น้ำหนักน้อย โดยการรักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด ใช้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน (L-thyroxin) ระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของโรค
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน จะทำให้มีความเสี่ยงแทรกซ้อน ได้แก่ โรคคอพอก โรคไขมันในเลือดสูง ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ปัญหาด้านจิตใจ และอารมณ์ที่แปรปรวน ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เกิดการพัฒนาช้าหรือพิการ ในเด็กแรกเกิด และเกิดภาวะ Myxedema Coma* ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  • การตรวจเลือดเพื่อหาระดับไทรอยด์ฮอร์โมน TSH และ T4 หรือ Free T4 จะสามารถหาความเสี่ยงหรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนไทรอยด์ได้

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่ทำงานภายใต้ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) และสมองส่วนที่เรียกว่า “ไฮโปธาลามัส” (Hypothalamus) ที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ด้วย เช่น ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ และยังมีความเชื่อมโยงกับอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น การทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆ ของต่อมไทรอยด์ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน จึงสัมพันธ์กับการทำงาน และการเกิดโรคของระบบอวัยวะต่างๆ รวมถึงอารมณ์และจิตใจ 

ต่อมไทรอยด์ ผลิตฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิด คือ 

  • ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine, T4) 
  • ไตรไอโอโดไธโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine, T3
  • แคลซิโทนิน (Calcitonin) 

โดยฮอร์โมน T4 และฮอร์โมน T3 มีหน้าที่สำคัญมากต่อการควบคุมการใช้พลังงานจากอาหาร และออกซิเจน ซึ่งภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นโรคที่ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) ถ้าตรวจเลือดแล้ว พบว่า TSH ปกติหรือ 0.4-4.2 mIU/L. ก็จะทราบได้ว่าไม่ได้เป็นโรคภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน แต่ถ้าสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 25 mIU/L จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ จึงต้องมีการตรวจยืนยันระดับ TSH และ T4 หรือ Free T4 ร่วมด้วย หากพบว่ามีความผิดปกติจริงควรรับการรักษาทันที

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)

เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อย หรือไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้งานของร่างกายที่จะไปสนับสนุนระบบเผาผลาญพลังงานภายในเซลล์และเนื้อเยื่อ ส่งผลให้ระบบสมองและการประมวลความคิดทำงานผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุได้หลายอาการ และที่พบได้ทั่วไปจากการเกิดภาวะนี้

ใครมีความเสี่ยงที่เป็นโรค (สาเหตุ)

  • เคยมีปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์มาก่อน เช่น คอพอก
  • ได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาต่อมไทรอยด์
  • ได้รับการฉายรังสีรักษาต่อมไทรอยด์คอหรือหน้าอก หรือโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ผู้ที่มีเนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือเกิดความเสียหายหรือความผิดปกติในส่วนสมองไฮโพทาลามัส (สมองส่วนหน้า) ทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมน TRH ได้เพียงพอ ซึ่งฮอร์โมนนี้ส่งผลกระทบต่อการปล่อย TSH จากต่อมใต้สมอง
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์
  • ตั้งครรภ์ใน 6 เดือนที่ผ่านมา
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ โรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง
  • ในเด็กจะเป็นภาวะการขาดไอโอดีนตั้งแต่กำเนิดหรือระหว่างที่มารดาตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และปัญหาด้านการเจริญเติบช้าของต่อมไทรอยด์ในเด็ก
  • มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้แก่

    • โรคที่ทำให้ตาและปากแห้ง
    • ภาวะที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 12
    • โรคเบาหวานประเภท 1
    • โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)
    • โรคไขข้ออักเสบ (Rheumatoid Arthritis)

อาการที่สังเกตได้

  • เกิดอาการขาดความกระปรี้กระเปร่า กิริยาการกระทำต่างๆ ที่เชื่องช้า คิดช้า เป็นต้น
  • ความจำและสมาธิสั้น 
  • ปวดเมื่อยเรื้องรัง หรือเป็นตะคริวง่าย  
  • พูดด้วยเสียงแหบแห้ง หูตึง ชาปลายนิ้วมือ
  • ผมร่วงผิดปกติ ผิวหนังแห้งหยาบ มีอาการคัน
  • อวัยวะภายในที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ เช่น ลำไส้ ในบางรายจึงเกิดอาการท้องผูก
  • มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือน้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติหรือหาสาเหตุไม่ได้
  • ไม่สามารถอยู่ในที่มีอุณหภูมิต่ำหรืออากาศหนาวได้นาน เนื่องจากการทำงานของระบบเผาผลาญพลังงานไม่สามารถทำให้เกิดการผลิตความอบอุ่นให้ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจหมดสติได้ 
  • เกิดอารมณ์ที่แปรปรวนไปทางภาวะซึมเศร้า
  • สมรรถภาพทางเพศเสื่อม
  • เกิดภาวะซีด
  • เหงื่อออกน้อย หรือไม่ออกเลย แม้จะอยู่ในช่วงอากาศร้อน
  • อ้วน บวม ที่ใบหน้า รอบดวงตา ลำตัว แขน มือ ขา และเท้า รวมถึงอาการปวดข้อสาเหตุ

ความเสี่ยงแทรกซ้อน

  • โรคคอพอก: เป็นผลกระทบเมื่อปล่อยให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์ใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ลำคอขยายใหญ่ที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความลำบากในการกลืนอาหารและการหายใจ
  • โรคไขมันในเลือดสูง: ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน จะส่งผลให้ระดับไขมัน LDL ในเลือดหรือคลอเลสเตอรอลขึ้นสูง
  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ: จากผลของโรคไขมันในเลือดสูง ที่ทำให้คลอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้เป็นโรคหัวใจโต ในขั้นรุนแรงจะส่งผลต่อระบบหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายได้
  • ปัญหาด้านจิตใจ: เกิดอาการซึมเศร้า และความรู้สึกที่แปรปรวน
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือเป็นหมัน 
  • เกิดการพัฒนาช้าหรือพิการ ในเด็กแรกเกิด
  • เกิดภาวะ Myxedema Coma* ที่มีอันตรายถึงชีวิต ในกรณี ภาวะขาดไทรอยด์เป็นเวลานานโดยไม่ได้รักษา โดยมีอาการหลักๆ คือ

  • หัวใจเต้นช้า
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • อุณหภูมิร่างกายต่ำ ทนหนาวไม่ได้
  • ง่วงตลอดเวลา ไม่กระปรี้กระเปร่า
  • เหม่อลอย ไม่มีสติและสมาธิในการใช้ชีวิตประจำวัน
  • อาการซึมเศร้า

โดยอาการอาจจจะมีความเสี่ยงแทรกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ที่อาจจะรุนแรงหมดสติหรือไหลตายได้ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะไม่เสี่ยงจากอาการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาระดับ TSH และ T4 หรือ Free T4 เพื่อทำการวินิจฉัยให้ชัดเจนต่อไป

ข้อมูลโดย :

นทพ. ชาญเวช ตันติกัลยาภรณ์

นักเทคนิคการแพทย์

พาธแล็บยินดีให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ หรือหากสนใจบริการของเราสามารถติดต่อได้ที่


ศูนย์บริการพาธแล็บ: 02 619-2299 หรือ 02 619-2288


Facebook Inbox: th.pathlab.link/inbox


LINE Official: th.pathlab.link/LINE


Website: www.pathlab.co.th


  Location สาขาใกล้ๆ คุณ: th.pathlab.link/google-maps

อ้างอิงจาก:

  1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด ( Congenital Hypothyroidism: CHT). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2563. จากเว็บไซต์:  http://www.neoscreen.go.th/web/index.php?option=com_content&view=article&id=104&Itemid=175
  2. งานห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์. ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2563. จากเว็บไซต์:
    https://www.hospital.tu.ac.th/lab/PDF/THAM-LAB%208.pdf
  3. The National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases Health Information Center (NIDDK). Hypothyroidism (Underactive Thyroid). Retrived July 28, 2020, from
    https://www.niddk.nih.gov/health-information/endocrine-diseases/hypothyroidism#what
  4. WebMD. Hypothyroidism (Underactive Thyroid).Retrived July 28, 2020, from https://www.webmd.com/women/hypothyroidism-underactive-thyroid-symptoms-causes-treatments#1