โรคกระเพาะ ปวดท้อง แสบท้องบ่อย
ต้องรู้จักเชื้อ เอช.ไพโลไร (H. Pylori)

เนื้อหา

เรื่องน่ารู้:

  • เชื้อ เอช.ไพโลไร เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถพบการปนเปื้อนทั่วไปได้จากการสัมผัสอุจจาระ น้ำลาย การกินอาหารและดื่มน้ำที่มีเชื้อ และสามารถพบเชื้อได้ในกระเพาะอาหารของประชากรทั่วโลกมากถึง 50% และเป็นสาเหตุสำคัญของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • เชื้อ เอช.ไพโลไร เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนปกติถึง 8-9 เท่า และเชื้อสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานหลายสิบปี
  • สาเหตุสำคัญการติดเชื้อ เอช.ไพโรไล คือ การติดต่อจากการอยู่ใกล้ชิดกันในครอบครัวที่มีการติดเชื้อ เช่น จากแม่สู่ลูก การจูบ หรือจากการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางการกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ การกินอาหารร่วมกันโดยไม่ใช้ช้อนกลางหรือแยกพาชนะกับผู้ติดเชื้อ การกินอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด การกินอาหารที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงความเครียดที่ส่งผลผิดปกติต่อหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เป็นต้น และหากเกิดจากพันธุกรรม เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระเพาะ หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ
  • ลักษณะอาการติดเชื้อ เอช.ไพโรไล ได้แก่ อาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในช่องท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักลดอย่างไม่มีสาเหตุ เป็นต้น
  • ลักษณะพิเศษของอาการติดเชื้อ เอช.ไพโรไล อาจจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้
  • สำหรับการป้องกันง่ายๆ คือ หมั่นล้างมือให้สะอาด กินร้อน ช้อนกลาง บริโภคอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อ และจัดการความเครียดที่จะสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในการผลิตน้ำย่อยมากกว่าปกติจนเชื้อแทรกซึมเข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อให้ได้
  • หากไม่แน่ใจในอาการดังกล่าว หรือเคยรับรักษามาแล้วแต่กลับมีอาการ ควรตรวจประเมินสุขภาพในการตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโรไล อย่างสม่ำเสมอ

รู้จักเชื้อเอช. ไพโรไล (H. Pylori)

ปี 2525 นายแพทย์ชาวออสเตรเลีย ชื่อ นายแพทย์โรบิน วอร์เรน (J.Robin Warren) ได้ค้นพบเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งในกระเพาะอาหารที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหาร เกิดแผลในกระเพาะอาหารและเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ในขณะนั้นความสำคัญของเชื้อแบคทีเรีย เอช.ไพโลไร ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก แต่ ณ ปัจจุบัน การค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เอช.ไพโลไร ของนายแพทย์โรบิน วอร์เรน เป็นที่ยอมรับและเป็นการเปิดมิติใหม่ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งถือได้ว่าการค้นพบครั้งนี้ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติเป็นอย่างมาก

แบคทีเรีย เอช.ไพโลไร คืออะไร

เชื้อ เอช.ไพโลไร เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่มีรูปร่างเกลียว (Spiral) จะพบเชื้อได้ในกระเพาะอาหารของประชากรทั่วโลกมากถึง 50% เชื้อ เอช.ไพโลไร เป็นสาเหตุสำคัญของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร เชื้อสามารถติดต่อกันได้จากการอยู่ใกล้ชิดกันในครอบครัว จากแม่สู่ลูกหรือจากการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยอาจมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในอาหาร และเชื้อสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานหลายสิบปี 

สำหรับในประเทศไทย พบว่า สาเหตุการติดเชื้อมาจากสภาวะแวดล้อม พันธุกรรม และการบริโภคอาหาร ซึ่งสายพันธุ์ของเชื้อจะแบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับภูมิภาค โดยส่วนมากจะพบอัตราการติดเชื้อตั้งแต่ในวัยเด็ก แต่การแสดงออกทางอาการส่วนมากจะพบได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ความสัมพันธ์ของเชื้อ เอช.ไพโลไร กับมะเร็งในกระเพาะอาหาร

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปัจจุบันให้ความสำคัญต่อเชื้อ เอช.ไพโลไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร เริ่มต้นจากเชื้อนี้ทำให้มีการอักเสบของกระเพาะอาหาร และทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารอย่างช้าๆ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า แผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง (Chronic Atrophic Gastritis) ซึ่งไม่มีอาการ แต่จะมีผลทำให้เกิดพยาธิสภาพต่างๆ เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะโลหิตจางที่เรื้อรังและรุนแรง (Perinccious Anemia) หรือแม้กระทั่งกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ โดยประมาณการว่าผู้ที่มีเชื้อ เอช.ไพโลไร จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนปกติถึง 8-9 เท่า

สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร

1.  การมีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังบางชนิด หรือเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จากการติดเชื้อแบคทีเรีย เอช.ไพโลไร

∎   โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) มีโอกาสพบเชื้อ เอช.ไพโลไร ร่วมด้วยประมาณ 60-80%

∎   โรคแผลในลำไส้เล็ก (Duodenal Ulcer) มีโอกาสพบเชื้อ เอช.ไพโลไร ร่วมด้วยประมาณ 95-100%

∎   โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer) มีโอกาสพบเชื้อ เอช.ไพโลไร ร่วมด้วยประมาณ 72%

2.  กระเพาะอาหารเกิดภาวะกรดหรือสร้างน้ำย่อยผิดปกติ เนื่องจากสิ่งต่อไปนี้

∎   การกระตุ้นของปลายประสาท เกิดจากความเครียด วิตกกังวล และอารมณ์แปรปรวน

∎   ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน การสูบบุหรี่ จะทำให้กรดหลั่งออกมามาก

∎   การกินอาหารไม่เป็นเวลา

3. เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย เกิดจาก

∎   การกินยาแก้ปวด ลดไข้ แก้ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพริน และยาสเตียรอยด์ ยาลูกกลอนต่างๆ โดยเฉพาะสารที่ระคายกระเพาะ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID แม้ว่าจะให้ยาโดยการฉีดหรืออมใต้ลิ้นก็มีโอกาสเกิดแผลที่กระเพาะได้ เนื่องจากยานี้จะไปกระตุ้นให้เกิดเอนไซม์ที่ชักนำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหาร (Cyclooxygenase II (COX II)) 

∎   การกินอาหารเผ็ดจัด และเปรี้ยวจัด

∎   การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ยาดอง

4.  พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อ เอช.ไพโลไร มากกว่าคนปกติ

อาการของโรค

1. ปวดท้อง ลักษณะอาการปวดท้องที่สำคัญ คือ

∎   ปวดบริเวณลิ้นปี่ ปวดแบบแสบๆ หรือร้อนๆ ปวดเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี

∎   ปวดสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดเวลาหิวหรือท้องว่าง เมื่อกินอาหารหรือนมจะหายปวด บางรายจะปวดหลังจากกินอาหารหรือปวดกลางดึกก็ได้

2. จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในช่องท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน

3.  อาการแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอาการสำคัญที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่

∎  อาเจียนเป็นเลือดดำ หรือแดง หรือถ่ายดำ เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น

∎   ปวดท้องรุนแรง และช็อค เนื่องจากแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทะลุ

∎   ปวดท้อง และอาเจียนมาก เนื่องจากการอุดตันของกระเพาะอาหาร

∎   คลำเจอก้อนที่ท้อง ตรงเหนือบริเวณสะดือเป็นก้อนแข็ง ไม่เจ็บ

∎   คลำเจอก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าข้างซ้าย

4.  น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้

การตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโลไร

1.  โดยการเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ เอช.ไพโลไร ตรวจหาภูมิต้านทานในเลือด อุจจาระ

2.  Urea Breath tests วิธีนี้โดยมากใช้ติดตามหลังการรักษา โดยการให้ผู้ป่วยดื่มสารยูเรียซึ่งมีอะตอมของคาร์บอนอาบรังสี ถ้าผู้ป่วยมีเชื้อในกระเพาะอาหารจะตรวจพบอะตอมของคาร์บอนจากลมหายใจ

3.  จากการตัดเนื้อเยื่อโดยการส่องกล้องผ่านทางปาก เรียกว่า Gastroscopy  ซึ่งตรวจได้ 3 วิธี

∎   นำเนื้อเยื่อทำปฏิกิริยา Urease Test ถ้ามีเชื้อจะให้ผลบวก

∎   นำเนื้อเยื่อส่องกล้องหาตัวเชื้อ

∎   นำเนื้อเยื่อไปเพาะเชื้อ

ระดับการติดเชื้อ

ระดับที่ 1 การเพิ่มจำนวนของเชื้อที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร

ระดับที่ 2 เกิดการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร (โรคกระเพาะเรื้อรัง)

ระดับที่ 3 เกิดการสูญเสียของเซลล์ในกระเพาะอาหารและระบบย่อยอาหารบกพร่อง

ระดับที่ 4 เกิดการเจริญเติบโตผิดที่ของเซลล์ในลำไส้แทนที่เซลล์ของกระเพาะอาหาร

ระดับที่ 5 ระยะเริ่มต้นของก่อตัวของเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร แต่จะยังไม่พบการแทรกของเซลล์ที่ผิดปกตินั้นไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง

ระดับที่ 6 เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

แนวทางการรักษา

ต้องได้รับการรักษาและภายใต้การดูแลจากแพทย์ โดยมีแนวทางดังนี้

1.  รับประทานยาลดกรดออกฤทธิ์แรงหรือยาเคลือบกระเพาะร่วมกับใช้ยาปฏิชีวนะที่รักษาโรคกระเพาะที่เกิดจากเชื้อ เอช.ไพโลไร นาน 6-8 สัปดาห์

2.  ติดตามการรักษาเป็นระยะ หากไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องใช้การตรวจพิเศษร่วมด้วย เช่น การส่องกล้องหรือการเอ็กซเรย์กระเพาะ ลำไส้โดยการกลืนแป้งแบเรียม การตรวจชิ้นเนื้อ

แนวทางป้องกัน

1.   ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ มันสำคัญมากที่จะทำสิ่งนี้หลังจากใช้ห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร รวมถึงการไม่ใช้มือหยิบจับอาหารร่วมกับผู้อื่น

2.  ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอาหารทุกอย่างที่คุณกินได้รับการทำความสะอาดและปรุงอย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน แอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดภาวะการหลั่งน้ำย่อยผิดปกติหรือสร้างภาวะกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปจึงเกิดแผลอักเสบที่กระเพราะอาหารได้

3.  มั่นใจในน้ำดื่มของคุณสะอาดและปลอดภัยสิ่งปนเปื้อน

4.  ควรมีวิธีจัดการความเครียดในแต่ละครั้งให้ได้ เพื่อไม่ให้มีผลต่อร่างกายในหลั่งน้ำย่อยอย่างผิดปกติ ที่จะทำให้เกิดแผล และสามารถทำให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าไปสร้างการติดเชื้อให้เกิดขึ้นได้

5. ควรตรวจประเมินสุขภาพในการตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโรไล อย่างสม่ำเสมอ เพราะเชื้อ เอช.ไพโลไร สามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้

สรุป

เชื้อ เอช.ไพโลไร (H. Pylori) คือ เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุสำคัญของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร การรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยอาจมีเชื้อปนเปื้อนอยู่อุจจาระ น้ำลาย การกินอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด การกินอาหารร่วมกันโดยไม่ใช้ช้อนกลางหรือแยกพาชนะกับผู้ติดเชื้อ การกินอาหารที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงความเครียดที่ส่งผลผิดปกติต่อหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เป็นต้น และอาจเกิดจากพันธุกรรมหรือการส่งต่อจากคนในครอบครัวที่เคยได้รับเชื้อ แม้จะเคยรับรักษามาแล้วก็สามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้

ข้อมูลโดย :

ทนพ. ชาญเวช ตันติกัลยาภรณ์

นักเทคนิคการแพทย์

พาธแล็บ ศูนย์ตรวจสุขภาพ สาขาแจ้งวัฒนะ

Pathlab Healthcare Center: Chaengwattana Center
Tel. [ กดโทร ]  02 573-3490-1

พาธแล็บยินดีให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ หรือหากสนใจบริการของเราสามารถติดต่อได้ที่


ศูนย์บริการพาธแล็บ  [ กดโทร ]  02 619-2299 หรือ 02 619-2288


Facebook Inbox  [ กดคลิก ]  th.pathlab.link/inbox


LINE Official  [ กดคลิก ]  th.pathlab.link/LINE

Website  [ กดคลิก ]  www.pathlab.co.th


Location สาขาใกล้ๆ คุณ  [ กดคลิก ]  th.pathlab.link/google-maps

อ้างอิงจาก: