เรื่องน่ารู้:
- โรคไข้เลือดออก หรือ ไข้เดงกี เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ที่มี 4 สายพันธุ์
- ยุงลายตัวเมียสปีชีส์ Aedes aegypti และ Aedes albopictus เป็นพาหะนำโรคนี้
- ไข้เลือดออกพบได้ส่วนใหญ่ในภูมิอากาศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก
- เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวของเชื้อฯ ประมาณ 4-10 วัน หรือนานสุด 15 วัน
- การติดเชื้อครั้งแรกมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อค เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด มีประจำเดือนปริมาณมากกว่าปกติ จะทำให้เสียชีวิตได้
- ประมาณ 1 ใน 20 คนที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกรุนแรง
- ทารกและสตรีมีครรภ์มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคไข้เลือดออกระดับรุนแรง
- อาการเแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข้ ระยะวิกฤตหรือช็อก และระยะฟื้นตัว หรือโดยแบ่งอาการตามระดับความรุนแรง เป็นระดับทั่วไป ที่อาการไม่รุนแรงสามารถกลับมาฟื้นตัวได้โดยปกติ ในขณะที่ระดับรุนแรง ที่มีภาวะช็อกจะต้องใช้วิธีการรักษาเฉพาะทางเพื่อให้ฟื้นตัวได้
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สำหรับในประเทศไทยจะใช้เป็นแบบ CYD-TDV เป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกี 4 สายพันธุ์ ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 9-45 ปี ซึ่งประสิทธิภาพโดยรวมในการป้องกันเชื้อของทั้ง 4 สายพันธุ์จะอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 65 ลดความรุนแรงของโรคได้ร้อยละ 93.2 และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 80.8
- ข้อควรระวัง : จากงานวิจัยด้านความปลอดภัยเพิ่มเติมเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนนั้น การได้รับวัคซีนจะเพิ่มโอกาสการนอนโรงพยาบาล รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดไข้เลือดออกรุนแรง ดังนั้น ทางอย.ประเทศไทย จึงได้ประกาศเพิ่มเติมว่าไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนดังกล่าวในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อน
- ยังไม่มียารักษาสำหรับโรคไข้เลือดออก
- การติดตามข้อมูลการระบาดจากกรมควบคุมโรคจะช่วยควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้
ข้อมูลการระบาด
โรคไข้เลือดออก หรือ ไข้เดงกี เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงแบ่งได้ 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งในบุคคลหนึ่งสามารถติดเชื้อไวรัสเดงกีได้หลายครั้ง การติดเชื้อครั้งแรกมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อค และอาจเสียชีวิตได้ การติดเชื้อส่วนมากจะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
โดยมียุงลายตัวเมียสปีชีส์ Aedes aegypti และ Aedes albopictus เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก และเป็นพาหะของโรคระบาดเขตร้อน เช่น โรคชิคุนกุนยา ไข้เหลือง และไวรัสซิก้า ได้เช่นกัน ยุงลายชอบหากินในเวลากลางวัน ผู้ที่ถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีกัดอาจเกิดการติดเชื้อ โดยมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการไข้ไม่รุนแรง หรือจนถึงขั้นป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกที่มีระดับความรุนแรง คือ อาการมีไข้สูง เลือดออกใต้ผิวหนัง จนอาจทำให้ผู้ป่วยช็อกจนเสียชีวิต นอกจากนี้อาจเกิดอาการเลือดออกและมีภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะต่างๆ เช่น อาการทางสมอง ตับ หรือปอด เป็นต้น
ทำไมการเป็นโรคไข้เลือดออกครั้งที่ 2 จึงรุนแรง
นี่คือ 1 ในปัญหาที่ท้าทายวงการแพทย์ทั่วโลกในการต่อสู้กับไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก และมียุงเป็นพาหะนำโรคระบาดนี้โดยการติดเชื้อครั้งที่ 2 ที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก จะทำให้มีอาการรุนแรงกว่า ซึ่งอยู่ในช่วงที่กำลังศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะโดยทั่วไปการเป็นโรคติดต่อที่ได้รับการรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติแล้วคนๆ นั้นจะมีภูมิต้านทานโรคเกิดขึ้นในร่างกาย (Immunity Following Infection) แต่ไม่ใช่สำหรับโรคไข้เลือดออก
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ นักวิจัยฯ ได้รายงาน ในระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล ไวรัสเดงกี สามารถส่งผลต่อการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสในการติดเชื้อครั้งต่อไปได้ การตอบสนองที่เกิดขึ้นอาจหมายถึง การเป็นไข้หวัดทั่วไปจากไข้เลือดออกระดับไม่รุนแรง จนถึงไข้เลือดระดับรุนแรง ที่ส่งผลให้เกิดอาการช็อก เข้าสู่ภาวะการล้มเหลวของระบบไหลเวียนเลือด และเสียชีวิตได้
เมื่อติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองตามปกติ โดยการสร้างภูมิค้มกันหรือแอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับผู้บุกรุกอย่างเช่น ไวรัส ปัญหาคือภูมิคุ้มกันที่กล่าวนี้อาจสับสนได้ หากพบกับไวรัสไข้เลือดออก 1 ในอีก 3 สายพันธุ์ในการติดเชื้อครั้งที่ 2 และจากการศึกษาในครั้งนี้ได้ พบว่า เชื้อไวรัสเดงกีชนิดต่าง ๆ มีโครงสร้างเป็นสายพันธุ์ย่อยอย่างมากมาย เพราะการติดเชื้อครั้งที่สองแอนติบอดีจะรับรู้ถึงไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใหม่ แต่ยังไม่สามารถที่จะกำจัดพวกมันออกจากร่างกายได้ โดยไวรัสจะหลอกให้แอนติบอดีในร่างกายเกิดความสับสนและเข้าใจว่าตัวไวรัสนี้เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อครั้งแรก ทำให้แอนติบอดีมีการตอบสนอง จนเกิดภาวะ Antibody-dpendent Enhancement (ADE) ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นและรวดเร็ว (Viremia) และเซลล์หน่วยความจำที่ทำหน้าที่ตอบสนองจากการระลึกได้ต่อแอนติเจนที่ได้สัมผัสอีกครั้ง (Memory CD4+ และ CD8+) ทำให้เกิดการหลั่ง*1สารไคโตไคน์ประเภทหนึ่ง เรียกว่า “สาร Pro-inflamatory Cytokines” เป็นสารที่หลั่งจากเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกัน เมื่ออยู่ในภาวะที่ถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจนมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบและช่วยรักษาการติดเชื้อ
ในกรณีการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งที่ 2 นี้เองที่เป็นตัวจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสาร Pro-inflamatory cytokines ในปริมาณมากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ จึงทำให้เกิด “ภาวะช็อกจากการติดเชื้อ” และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อความความรุนแรงจากโรคไข้เลือดออกครั้งที่ 2
- ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีหรือเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน
- ทารกในครรภ์ สตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับการพัฒนาระดับเป็นโรคไข้เลือดออกอย่างรุนแรง
- ผู้ที่อาศัยในภูมิอากาศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก รวมทั้งบริเวณที่พักอาศัยที่มีลักษณะเอื้อต่อการเพาะพันธุ์ยุง เช่น บริเวณที่มีหลุม แอ่งน้ำขัง แหล่งน้ำนิ่ง พื้นที่ร้าง ป่ารกชัฏ หรือแหล่งขยะหมักหมม
การป้องกันและควบคุม
- สำหรับตนเอง
-
- หากคุณเคยเป็นไข้เลือดออกต้องหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดในช่วงสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย เนื่องจากไวรัสอาจจะยังอยู่ภายในเลือดช่วงเวลานี้ ทำให้คุณอาจส่งไวรัสผ่านยุงที่ไม่ได้รับการติดเชื้อซึ่งอาจแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ หรือ ป้องกันตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมบริเวณมุมสลัวของบ้านหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อลดโอกาสการถูกยุงกัด หรือหากเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ยาทาหรือฉีดป้องกันยุง หรือจะกางมุงสำหรับการพักผ่อน
- สำหรับส่วนร่วมในสังคม
ความใกล้ชิดของแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่อยู่อาศัยของมนุษย์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคไข้เลือดออก เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ปัจจุบันวิธีหลักในการควบคุมหรือป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสเดงกีคือการต่อสู้กับยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
-
- การป้องกันการเพาะพันธุ์ยุง:
- กำจัดบริเวณที่มีขยะ หลุมหรือแอ่งน้ำขัง โดยการจัดการและปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมนี้ให้สามารถปราศจากหรือป้องกันการวางไข่ของยุงได้
- ทำความสะอาดภาชนะที่กักเก็บน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ และควรมีฝาปิดมิดชิด
- การมีมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง หรือการประชาสัมพันธ์อย่างเหมาะสมบริเวณหรือสถานที่พักอาศัย ที่ทำงาน โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ตลาด เป็นต้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในชุมชน:
- ติดตามข้อมูลการแจ้งการระบาดของโรคจากกรมควบคุมโรค
- ถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนความรู้แนวทางการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกระหว่างสมาชิกในครอบครัวและชุมชน ทั้งทางการพูดคุยกัน หรือทางช่องทางสื่อออนไลน์
- การป้องกันการเพาะพันธุ์ยุง:
การป้องกันโรคไข้เลือดออก หรือ ไข้เดงกี รวมถึงโรคระบาดอื่นๆ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและให้ความร่วมมือกับกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
คำเฉพาะ:
*1. สารไซโตไคน์คือสารที่หลั่งจากเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันในภาวะที่ถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจนหรือตอบสนองต่อภาวะการอักเสบ หากร่างกายผลิตสารไคโตไคน์มากเกิน จะมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือเรียกว่า “ภาวะพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm)” คือสภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคทำงานผิดพลาดและการตอบสนองด้านการติดเชื้อและอักเสบแบบโหมกระหน่ำเหนือการควบคุมของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันโรคนี้เองเป็นฝ่ายทำลายทั้งเชื้อโรค เซลล์หรือเนื้อเยื่อในอวัยวะสำคัญๆ
พาธแล็บยินดีให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ หรือหากสนใจบริการของเราสามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์บริการพาธแล็บ: 02 619-2299 หรือ 02 619-2288
Facebook Inbox: bit.ly/PathlabMessenger
LINE Official: https://lin.ee/7foBIeB
Website: www.pathlab.co.th
Location สาขาใกล้ๆ คุณ: bit.ly/2Otfw77
อ้างอิงจาก:
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลโรงพยาบาลรามาธิบดี. “วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Dengue Vaccine)”. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563. จากเว็บไซต์: https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/03182020-1459
- นพ.พงศ์เทพ ธีระวิทย์, ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. “ภาวะช็อค (Shock)”. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563. จากเว็บไซต์: https://med.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/Shock.pdf
- พ.ญ. ละออ ชมพักตร์, ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. “หลักการติดเชื้อ (Principle of infection)”. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563. จากเว็บไซต์: http://www.med.nu.ac.th/pathology/405313/book56/หลักการเกิดโรคติดเชื้อ2556.pdf
- รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์, หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ยาต้านไซโตไคน์กับการรักษาโควิด-19”. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563. จากเว็บไซต์: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/505/ยาต้านไซโตไคน์กับการรักษาโควิด-19/
- สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. “กลุ่มย่อยสายพันธุ์แดงกี (Dengue Serotype)”. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563. จากเว็บไซต์: https://www.pidst.or.th/A456.html
- หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2547). “Proinflamatory cytokines ช่วยรักษาการติดเชื้อ”. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563. จากเว็บไซต์: https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=82
- National Center for Biotechnology Information, U.S. National Library of Medicine (NCBI NIH). (2015). “Dynamics of Dengue Disease Severity Determined by the Interplay Between Viral Genetics and Serotype-Specific Immunity”. Retrived July 17, 2020, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4517192/
- Sarah Yang, University of California – Berkeley. (2015). “Single protein at the root of dengue’s virulence”. Retrived July 17, 2020, from https://www.universityofcalifornia.edu/news/5397/single-protein-root-dengues-virulence
รูปภาพจาก: